คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 689/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอยู่ก่อนแล้ว ศาลตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายให้เป็นผู้จัดการมรดกอีกได้ และเพื่อมิให้การปฏิบัติหน้าที่เกิดขัดแย้งกันจึงให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันจัดการมรดกรายนี้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัคค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายว่า ผู้ร้องและผู้คัคค้านต่างเป็นบุตรของเจ้ามรดก แต่ต่างมารดากัน โดยผู้ร้องเป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายส่วนผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่เกิดจากภรรยาโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งได้เสียกับผู้ตายภายหลังมารดาผู้ร้อง และผู้ตายได้รับรองโดยพฤติการณ์แล้วว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตาย และในระหว่างพิจารณาคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 8102/2521 ของศาลชั้นต้น คดีมีประเด็นในชั้นนี้ตามฎีกาของผู้คัดค้านเพียงว่า ผู้ร้องเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจริงหรือไม่ ซึ่งผู้คัดค้านยกเหตุที่ผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมาในฎีการวม 3 ประการ ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามลำดับไป ประการแรกที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องได้แต่งงาน แยกครอบครัวจากบ้านผู้ตายไปอยู่กับสามี ย่อมมีภาระทางครอบครัวไม่สะดวกที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดกนั้น การจัดการมรดกมิใช่กิจการที่จะต้องกระทำเป็นประจำทุกวันทั้งกลางวันกลางคืนก็หาไม่ แต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องกระทำเป็นครั้งคราวเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถึงหากผู้ร้องจะมีครอบครัวแยกไปแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องในการทำหน้าที่จัดการมรดกแต่อย่างใด ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าในขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องไม่เคยอุปการะส่งเสียเลี้ยงดูผู้ตาย ความข้อนี้ก็ได้ความว่าผู้ตายเป็นข้าราชการบำนาญ ได้รับบำนาญสำหรับใช้จ่ายเป็นประจำ ผู้ตายมีเงินสดฝากธนาคารถึง 120,000 บาท และมีที่ดินถึง 12 แปลง ตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้อง ซึ่งผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น กรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายตามกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเมื่อผู้ตายป่วยรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือนผู้ร้องไม่เคยสนใจปรนนิบัติเฝ้าไข้ผู้ตายเลยนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสุมาลี จึงเจริญพรสุข พยานผู้คัดค้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพยาบาลประจำตึกรุจิรวงศ์ โรงพยาบาลตำรวจในขณะผู้ตายป่วยอยู่ว่าเคยเห็นผู้ร้องไปเยี่ยมผู้ตายที่โรงพยาบาลบ่อย ๆ กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้สนใจปรนนิบัติผู้ตายในขณะป่วยเจ็บดังที่ผู้คัคค้านกล่าวอ้าง ผู้ร้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและคดีได้ความตามคำเบิกความของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ที่ผู้ตายไว้วางใจจนถึงกับมอบโฉนดที่ดินและบัญชีเงินฝากธนาคารให้ผู้ร้องเก็บรักษา ทั้งผู้ร้องมิได้เป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 กรณีไม่อาจถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามที่ผู้คัดค้านฎีกาขึ้นมา

อนึ่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอยู่ก่อนแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 8102/2521 ของศาลชั้นต้นเพื่อมิให้การปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกของผู้ร้องและผู้คัคค้านในคดีทั้งสองเรื่องนี้เกิดขัดแย้งกันขึ้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันจัดการมรดกรายนี้

พิพากษายืน โดยให้นางวิมพันธุ์ บุญทวี ผู้ร้อง และนางสาวสุนีย์ จาตุรงคกุล ผู้คัดค้านผู้จัดการมรดกตามคดีหมายเลขแดงที่ 8102/2521 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันมีสิทธิและหน้าที่จัดการมรดกของพันตำรวจเอกโสตถิจาตุรงคกุล ตามกฎหมาย ผู้ร้องมิได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้”

Share