แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็คฯ นั้น วันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหรือมอบเช็คให้แก่ผู้เสียหายหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า หลังจากที่ผู้เสียหายได้รับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและเช็คพิพาทแล้วผู้เสียหายก็มอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยในวันเดียวกันนั้น โดยปรากฏว่าวันสั่งจ่ายเช็คที่ลงในเช็คพิพาทตรงกับวันครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แสดงว่าขณะที่เช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือเป็นวันออกเช็คนั้น มูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวย่อมสมบูรณ์และมีหลักฐานเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดหลุมแก้ว ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2545 จำนวนเงิน 230,000 บาท ให้แก่นายเพทายผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้ว ทั้งนี้ จำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นหรือให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นหรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) ) จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยมอบเช็คพิพาทและหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้แก่ผู้เสียหาย สัญญากู้ยืมเงินยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้เสียหายยังไม่ได้ส่งมอบเงินให้แก่จำเลย ผู้เสียหายเพิ่งมอบเงินให้แก่จำเลยหลังจากตรวจดูหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและเช็คพิพาทแล้ว ขณะจำเลยส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหาย จึงยังไม่มีหนี้อยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและออกเช็คพิพาทลงวันที่ 20 มิถุนายน 2545 จำนวนเงิน 230,000 บาท มอบให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายจึงมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยภายหลังในวันเดียวกัน เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 นั้น วันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหรือมอบเช็คให้แก่ผู้เสียหายหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าหลังจากที่ผู้เสียหายได้รับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและเช็คพิพาทแล้ว ผู้เสียหายก็มอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยในวันเดียวกันนั้นโดยปรากฏว่าวันสั่งจ่ายเช็คที่ลงในเช็คพิพาทตรงกับวันครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แสดงว่าขณะที่เช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือเป็นวันออกเช็คนั้น มูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวย่อมสมบูรณ์และมีหลักฐานเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามจำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้ผู้เสียหาย 230,000 บาท การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1