แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้อง ภายหลังที่จำเลยยื่นคำให้การแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง เพียงให้ศาลต้องฟังคำแถลงของจำเลยก่อน จากนั้นเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสมควรอนุญาตหรือไม่ แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านว่าการที่จำเลยที่ 4 ไปตกลงกับโจทก์อาจทำให้จำเลยที่ 4ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ไม่มีส่วนรับรู้ข้อตกลงด้วย และจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ด้วยหรือไม่ก็ตามเป็นอีกกรณีหนึ่งตามมูลความแห่งคดีเดิม ทั้งการที่โจทก์ขอถอนฟ้องเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย นอกจากนี้ศาลจะอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องก็เป็นอำนาจของศาลชั้นต้น ที่จะใช้ดุลพินิจตามลักษณะของคดี เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ ถอนฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความแล้วจึงเป็นการ ใช้ดุลพินิจที่ชอบ โจทก์ขออายัดที่ดินของจำเลยไว้ก่อนโจทก์ฟ้องคดีและเจ้าพนักงานที่ดินได้รับอายัดไว้แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 60 วัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 83 วรรคสอง ให้ถือว่าการอายัดมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งให้ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด คำขออายัดที่ดินของโจทก์จึงมีผลตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดิน ได้รับอายัด เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องแล้วและโจทก์ ได้นำสำเนาคำฟ้องมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน คำสั่งดังกล่าว ของเจ้าพนักงานที่ดินย่อมมีผลต่อเนื่องไปจนกว่าศาลจะสั่ง ให้ถอนการอายัด หรือถ้าไม่มีคำสั่งให้ถอนการอายัดก็มีผล ไปจนกว่าศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุด ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 มีความมุ่งหมายเพื่อจะคุ้มครองประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินไว้ชั่วกำหนดระยะเวลาหนึ่งจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือจะมีคำวินิจฉัยคดีอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแล้วก็เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหรือของผู้ขออายัดและเจ้าของที่ดินการสิ้นผลของการอายัดตามมาตรา 83 วรรคสอง เป็นเจตนารมณ์ ของการอายัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงใช้ถ้อยคำว่า จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ถอนการอายัด หรือมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุด ดังนั้น การอายัดที่ดินจะสิ้นสุดลงได้ ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเท่านั้น จึงหาต้องให้คดีถึงที่สุด เสียก่อนไม่ เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งให้ถอน การอายัดที่ดินตามที่โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ขอให้เพิกถอนการอายัด คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนและจำนองที่ดินดังกล่าว แล้วลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นผู้จัดการที่ดินอันเป็นสินสมรสทั้ง 4 แปลง
จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตกลงกันได้แล้วขอถอนฟ้องจำเลยทั้งห้าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง และมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินถอนการอายัดที่ดินทั้ง 4 แปลง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินทั้ง 4 แปลง ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 4 กับขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 4กับจำเลยที่ 5 จำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำให้การแล้ว อีกทั้งก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ขออายัดที่ดินทั้ง 4 แปลง ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 เจ้าพนักงานที่ดินได้รับอายัดไว้ ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 โจทก์กับจำเลยที่ 4ตกลงกันได้โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งห้า จำเลยทั้งห้ารับสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านการขอถอนฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 4 ไปตกลงกับโจทก์โดยยอมชำระเงินจำนวน 11,300,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทำให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 เสียเปรียบ อาจถูกจำเลยที่ 4 ฟ้องไล่เบี้ยเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ กับได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนการอายัดที่ดินทั้ง 4 แปลง ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการต่อไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่าคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสองบัญญัติว่า ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อน จากบทบัญญัติเช่นนี้แสดงว่าการที่ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องภายหลังที่จำเลยยื่นคำให้การแล้ว เพียงให้ศาลต้องฟังคำแถลงของจำเลยก่อนจากนั้นเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสมควรอนุญาตหรือไม่ ข้อที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านและฎีกาว่าการที่จำเลยที่ 4 ไปตกลงกับโจทก์อาจทำให้จำเลยที่ 4ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ไม่มีส่วนรับรู้ข้อตกลงด้วยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกกรณีหนึ่งตามมูลความแห่งคดีเดิม การที่โจทก์ขอถอนฟ้องเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ส่วนที่ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจตามลักษณะของคดี เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความแล้วจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบ
ส่วนฎีกาข้อที่ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการอายัดที่ดินทั้ง 4 แปลง ของโจทก์เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 หรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขออายัดที่ดินทั้ง 4 แปลง ของจำเลยที่ 4ไว้ก่อนโจทก์ฟ้องคดีและเจ้าพนักงานที่ดินได้รับอายัดไว้ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินคดีนี้ภายในกำหนด 60 วัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 วรรคสอง ให้ถือว่าการอายัดมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งให้ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแสดงให้เห็นว่าคำขออายัดที่ดินทั้ง 4 แปลงของโจทก์มีผลตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินได้รับอายัดเมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องแล้วและโจทก์ได้นำสำเนาคำฟ้องมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน คำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินมีผลต่อเนื่องไปจนกว่าศาลจะสั่งให้ถอนการอายัดหรือถ้าไม่มีคำสั่งให้ถอนการอายัดก็จนกว่าศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้ถอนการอายัดทันทีที่มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ดังนี้ ปัญหาที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ฎีกาว่า คำสั่งรับอายัดที่ดินทั้ง 4 แปลงของเจ้าพนักงานที่ดินจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อคดีนี้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83มีความมุ่งหมายเพื่อจะคุ้มครองประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินไว้ชั่วกำหนดระยะเวลาหนึ่งจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือจะมีคำวินิจฉัยคดีอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแล้ว ทั้งนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหรือของผู้ขออายัดและเจ้าของที่ดิน มาตรา 83 วรรคสอง จึงบัญญัติให้การอายัดมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด การสิ้นผลของการอายัดตามมาตรานี้เป็นเจตนารมณ์ของการอายัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงใช้ถ้อยคำว่าจนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ถอนการอายัด หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด ดังนั้นการอายัดที่ดินจะสิ้นสุดลงได้ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเท่านั้นจึงหาต้องให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนไม่ เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งให้ถอนการอายัดที่ดินทั้ง 4 แปลงตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินขอให้เพิกถอนการอายัด คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน