คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และได้เบียดบัง เอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ส่วนความผิดตามมาตรา 353 ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหาย สำหรับความผิดตามมาตรา 354 ต้องเป็นกรณี ที่ผู้กระทำความผิดมาตรา 352 หรือ 353 ได้กระทำในฐานะ ที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือ ตามพินัยกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือ ว.เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่น และไม่ได้ มีฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 352 มาตรา 353 และมาตรา 354 ได้ เมื่อจำเลย ไม่สามารถกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวได้ จำเลยจึงเป็นตัวการ ร่วมกับ ว. ในการกระทำความผิดตามมาตรา 83 ไม่ได้ การจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องสอบถามทายาทอื่น แตกต่างกับการจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดก ในฐานะเป็นผู้รับมรดกเอง ซึ่งจะต้องมีการบันทึกการยินยอม ของทายาทเจ้ามรดกไว้ด้วย และเป็นการจดทะเบียนที่ดิน ประเภทมีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฏว่า ว.ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เหตุที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นด้วยนั้น เนื่องจาก ว. ได้แบ่งมรดกส่วนอื่นให้ไปแล้ว และจำเลยในฐานะทายาทได้ทำบันทึกให้ความยินยอม โดยที่ผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งมรดกรายอื่นให้แก่โจทก์ ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทอื่นเลย จึงเป็นการที่จำเลยช่วงเหลือ ให้ ว. ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของ ว. ในฐานะผู้รับมรดกเองอันเป็นการกระทำที่มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353,354 ประกอบ 86 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353, 354, 83 และ 86
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประเด็นแรกว่า คดีสำหรับจำเลย มีมูลเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับนายวิสันต์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และได้เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหาย และมาตรา 354 ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดมาตรา 352 หรือ 353 ได้กระทำในฐานะที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม ดังนั้นจำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 352มาตรา 353 และมาตรา 354 ได้ เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือนายวิสันต์เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่น และไม่ได้มีฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม เมื่อจำเลยไม่สามารถกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวได้ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับนายวิสันต์ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ไม่ได้
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองอีกว่า การที่จำเลยได้ให้ถ้อยคำยินยอมให้โอนที่ดินมรดกให้แก่นายวิสันต์และจำเลยไม่ได้คัดค้านในข้อความที่นายวิสันต์รับรองว่าที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นนั้น เนื่องจากได้แบ่งมรดกอื่นให้ไปแล้วซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นความเท็จนั้นเป็นการสนับสนุนการกระทำผิดของนายวิสันต์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายณรงค์ เนตรไสวข้าราชการสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน เบิกความเป็นพยานว่า ในกรณีจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกนั้นแม้จะไม่มีการสอบสวนจำเลยไว้ เจ้าพนักงานที่ดินก็สามารถจดทะเบียนนิติกรรมรายนี้ได้และนางแก่นจันทร์ ดุลประศาสน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขาสามพรานเบิกความว่า เมื่อมีการจดทะเบียนที่ดินแปลงใดมาเป็นชื่อผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกสามารถขอจดทะเบียนโอนไปยังทายาทหรือบุคคลอื่นได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทของเจ้ามรดกก่อน เนื่องจากเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่จะทำได้เหตุที่ต้องมีการสอบเกี่ยวกับทายาทของเจ้ามรดกไว้ในคำขอโอนมรดกจะด้วยเหตุผลใด พยานไม่ทราบ ทราบแต่ว่าพยานมีหน้าที่ต้องสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทายาทของเจ้ามรดกและบันทึกไว้ แต่ในการขอจดทะเบียนโอนมรดกนั้น หากมีทายาทคนใดคัดค้าน พยานจะเสนอเรื่องขอจดทะเบียนโอนมรดกนั้นให้หัวหน้างานเป็นผู้ดำเนินการต่อไปและพยานโจทก์ปากนี้เบิกความอีกว่า พยานได้บันทึกการยินยอมให้จดทะเบียนโอนที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นทายาทเจ้ามรดกไว้ด้วยตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขาสามพรานเนื่องจากการจดทะเบียนที่ดินนั้นเป็นประเภทมีทุนทรัพย์สูงแต่ทั้งนี้บันทึกเกี่ยวกับถ้อยคำของทายาทเจ้ามรดกซึ่งไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกนั้น หากไม่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินให้บันทึกก็ไม่จำต้องบันทึกถ้อยคำของทายาทไว้ จากคำให้การของพยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นที่เห็นได้ว่า การจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องสอบถามทายาทอื่น ซึ่งแตกต่างกับการจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้รับมรดกเอง ซึ่งจะต้องมีการบันทึกการยินยอมของทายาทเจ้ามรดกไว้ด้วย และเป็นการจดทะเบียนที่ดินประเภทมีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฏว่านายวิสันต์ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เหตุที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นด้วยนั้น เนื่องจากนายวิสันต์ได้แบ่งมรดกส่วนอื่นให้ไปแล้วและจำเลยในฐานะทายาทได้ทำบันทึกให้ความยินยอมโดยที่ผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งมรดกรายอื่นให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทอื่นเลยจึงเป็นการที่จำเลยช่วยเหลือให้นายวิสันต์ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของนายวิสันต์ในฐานะผู้รับมรดกเองอันเป็นการกระทำที่มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบ 86 แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณาเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share