คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6854/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทมีราคา 30,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะยื่นฎีกา ฎีกาจำเลยทุกข้อล้วนแล้วเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างทั้งสิ้น จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่จำเลยได้ชำระเงินตามเช็คที่จำเลยได้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้งวดแรกตามข้อตกลงในหนังสือรับสภาพหนี้จนครบถ้วน โดยมิได้ยกเหตุแห่งการถูกหลอกลวงให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ขึ้นมาต่อสู้ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 มิได้หลอกลวงให้จำเลยทำเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างและการนำสืบของจำเลยที่ว่าถูกหลอกลวงให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเป็นการกล่าวอ้างและนำสืบลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยทำหนังสือมีข้อความว่าจำเลยยอมรับว่าได้เป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริงและตกลงชำระหนี้ดังกล่าวเป็นงวด ๆ จนครบ หากผิดนัดให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันทีข้อตกลงดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 แล้ว จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 นำดอกเบี้ยจำนวนใดที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดมารวมไว้ในจำนวนหนี้ในหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลจะฟังว่าดอกเบี้ยที่มีรวมอยู่เป็นโมฆะซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยต่อโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 1ตามหนังสือรับสภาพหนี้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกนายสุพจน์เป็นโจทก์ที่ 1 นางสาวปรียาพรเป็นโจทก์ที่ 2 และนายแพรเป็นจำเลย
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตกลงจะชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นรายปีและจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มีนาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยคงค้างชำระ1,300,000 บาท ซึ่งเมื่อคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2531 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 81,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน1,381,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน1,300,000 บาท นับแต่วันฟ้อง ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ได้ใช้อุบายฉ้อฉลหลอกให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้อง จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ที่ 1 โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังจำเลยฟ้องว่า จำเลยกับโจทก์ที่ 1 ได้เข้าหุ้นทำไร่อ้อยส่งขายให้แก่บริษัทน้ำตาล เมื่อมีกำไรได้นำเอาผลกำไรไปซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 317โดยให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิทางทะเบียน ต่อมาจำเลยกับโจทก์ที่ 1 ได้ตกลงเลิกการเป็นหุ้นส่วนกัน และตกลงให้ที่ดินเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวแต่ยังไม่ได้แก้ชื่อทางทะเบียนจำเลยทราบว่าโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2อันเป็นการรบกวนสิทธิการครอบครองของจำเลย ขอให้พิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 317 และเพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2แล้วให้โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยหากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาหากไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวได้ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงินแก่จำเลย 30,000 บาท
โจทก์ที่ 1 ให้การว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวโจทก์ที่ 1 ไม่เคยเป็นหุ้นส่วนกับจำเลย จำเลยเช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 จำเลยไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทราบการโอนคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับโอนที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับจำเลยส่งมอบที่พิพาทคืนโจทก์ที่ 2 ในสภาพเรียบร้อย และห้ามมิให้จำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป
จำเลยให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ที่พิพาทเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,340,602.73 บาทแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินต้น1,300,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (14 กันยายน 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้น และให้จำเลยส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 317 ให้แก่โจทก์ที่ 2ในสภาพเรียบร้อยและห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาจำเลยในสำนวนหลังปรากฏว่าที่พิพาทมีราคา 30,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะยื่นฎีกา ที่จำเลยฎีกาในสำนวนหลังทุกข้อล้วนแล้วเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างทั้งสิ้น จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยการที่จำเลยได้ชำระเงินตามเช็คที่จำเลยได้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้งวดแรกตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 จนครบถ้วน โดยมิได้ยกเหตุแห่งการถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารหมาย จ.4 ขึ้นมาต่อสู้แล้วย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 มิได้หลอกลวงให้จำเลยทำเอกสารหมาย จ.4แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างและการนำสืบของจำเลยที่ว่าถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารหมาย จ.4 จึงเป็นการกล่าวอ้างและนำสืบลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยทำหนังสือมีข้อความว่าจำเลยยอมรับว่าได้เป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริงและตกลงชำระหนี้ดังกล่าวเป็นงวด ๆ จนครบ หากผิดนัดให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 แล้ว จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 นำดอกเบี้ยจำนวนใดที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดมารวมไว้ในจำนวนหนี้ในเอกสารหมาย จ.4 แล้วจะฟังว่าดอกเบี้ยที่มีรวมอยู่ในเอกสารหมาย จ.4 เป็นโมฆะซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยต่อโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 1 ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 นั้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยในสำนวนหลัง

Share