แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 บัญญัติเพียงว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนโดยได้ทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือ หาได้บัญญัติว่าการโอนนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ ฉะนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องทีไ่ด้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนแต่ฝ่ายเดียวก็เป็นการสมบูรณ์ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอซื้อห้องชุดพิพาทจากโจทก์ โจทก์ตกลงจะขายให้และมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 จะซื้อห้องชุดพิพาทต่อจากโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อการกู้เงินจากธนาคาร ดังนี้ หนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้แสดงเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อขายห้องชุดพิพาทที่มีต่อจำเลยที่ 2 ผู้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำเป็นหนังสือเป็นการสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้โอนจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายอีกต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยปลอดจำนองและภาระติดพันใด ๆ หากโอนไม่ได้ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงิน 300,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน60,000 บาท และค่าเสียหายเป็นรายเดือนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งห้าจะโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและที่ดินพิพาทให้โจทก์หรือชำระเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2525 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาท ชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญา 20,000 บาท และระหว่างทำการก่อสร้างจะต้องชำระอีก 220,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 22 งวด ทุกวันที่ 28ของทุกเดือน ส่วนที่เหลืออีก 160,000 บาทจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทแก่โจทก์ โจทก์ค้างชำระค่าห้องชุดพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เพียง 50,000 บาท ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน2529 จำเลยที่ 1 ขอซื้อห้องชุดพิพาทจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะชำระเงิน 50,000 บาท ที่โจทก์ค้างชำระจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 2แทนโจทก์ ส่วนเงินที่เหลือจำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์ในภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวน 50,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วและจำเลยที่ 1 เข้าไปอยู่ในห้องชุดพิพาท โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 จะซื้อห้องชุดพิพาทต่อจากโจทก์โดยการขอกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์จึงขอให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อการกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2530และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองห้องชุดพิพาทต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ จำกัด ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย ล.6
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เมื่อปลายปี 2529 จำเลยที่ 1 ขอซื้อห้องชุดพิพาทพร้อมเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในราคา 450,000 บาท โจทก์ตกลงจะขายให้ จำเลยที่ 1 จึงขอให้โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ออกหนังสือรับรองให้เพื่อที่จำเลยที่ 1 จะได้นำไปขอกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตามเอกสารหมาย จ.2 และตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารหมาย ล.2 ที่โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2530 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ขอซื้อห้องชุดพิพาทพร้อมเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในราคา450,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะชำระค่าห้องชุดพิพาทที่โจทก์ค้างชำระจำเลยที่ 2 จำนวน 50,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 แทนโจทก์และจะชำระเงินให้โจทก์อีก 400,000 บาท เมื่อตกลงกันได้แล้วไม่ได้ทำสัญญากันไว้โจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 เพื่อให้ออกหนังสือรับรองว่า จำเลยที่ 1 จะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 2เพื่อจำเลยที่ 1 จะนำหนังสือรับรองไปเป็นหลักฐานในการกู้เงินจำเลยที่ 2 จึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 และมอบสัญญาให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,000 บาท ไปมอบให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียง 100,000 บาทยังคงค้างอยู่อีก 300,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงแจ้งความไว้เพื่อฟ้องร้องทางแพ่งเมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์ ข้อความที่โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย ล.2 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระเงินค่าห้องชุดพิพาทที่โจทก์ยังค้างชำระจำเลยที่ 2 อยู่50,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 ถึงจำเลยที่ 2 ให้ออกหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 2 แล้วมีเหตุผลเชื่อได้ว่าโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้การโอนสิทธิเรียกร้องกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ทำสัญญากันไว้ดังที่โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย ล.2 ก็ตามแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 บัญญัติไว้แต่เพียงว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น โดยได้ทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือ หาได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ ฉะนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนแต่ฝ่ายเดียวก็เป็นการสมบูรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวเมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นหนังสือที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ทำขึ้นแสดงเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขาย ห้องชุดพิพาทที่มีต่อจำเลยที่ 2ผู้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำเป็นหนังสือเป็นการสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้โอนจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจึงไม่เป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งห้าให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทแก่โจทก์หาได้ไม่ โจทก์คงมีสิทธิที่จะเรียกเงินค่าโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เท่านั้น เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน