คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6798/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโดยปรากฏข้อความในรายการเอกสารทะเบียนว่า ป. ผู้ตายเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ป. กับกรรมการอื่นอีก 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันประทับตราของบริษัท จำเลยที่ 1 ลงชื่อผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ แต่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารตามเช็ค โดยให้ตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเฉพาะกรรมการอื่น 4 คน โดยไม่ปรากฏตัวอย่างลายมือชื่อของ ป. ด้วย ป. จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คแทนจำเลยที่ 1 การที่ ป. ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยไม่มีอำนาจสั่งจ่ายแทนจำเลยที่ 1 และมิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 1 แล้วนำเช็คพิพาทไปแลกกับเช็คซึ่ง ป. สั่งจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ส่วนตัว ป. จึงต้องร่วมรับผิดตามเช็คพิพาท เป็นการส่วนตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900
ป.วิ.พ. มาตรา 97 บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายหนึ่งจะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตนหรือจะอ้างตนเอง เป็นพยานก็ได้ การที่โจทก์อ้างจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
การที่โจทก์ละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนดเวลา 1 เดือน หรือ 3 เดือน นับแต่วันออกเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 990 วรรคหนึ่ง คงมีผลเพียงทำให้โจทก์สิ้นสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้สลักหลัง และเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการละเลยไม่ยื่นเช็คนั้น
ความเสียหายเพราะการละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทในการกำหนดตามมาตรา 990 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ผู้สั่งจ่ายจะต้องพิสูจน์เพื่อให้พ้นความรับผิด
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ว่า โจทก์ให้ ป. ยืมเงิน 4,500,000 บาท ไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า ผู้สมัครแต่ละคนจะใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดเกิน 1,000,000 บาท ไม่ได้ การกู้ยืมเงินตามเช็คพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง
โจทก์ให้ ป. ยืมเงิน 4,500,000 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2539 เป็นการยืมเงินก่อนประกาศ พ.ร.ฎ. ให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 6 เดือน และเช็คตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่ง ป. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ก็มีกำหนดสั่งจ่ายในวันที่ 17 เมษายน 2539 ก่อนประกาศ พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 5 เดือนเศษ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ให้ ป. ยืมเงินเพื่อสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 ที่แก้ไขแล้ว การออกเช็คพิพาทแลกกับเช็คตามเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๔,๘๓๗,๕๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะร่วมกันชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๔ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประสิทธิ์ ณรงค์เดช ชำระเงิน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประสิทธิ์ ณรงค์เดช ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช และผู้มีชื่ออีก ๓ คน เป็นกรรมการของบริษัท กรรมการ ๓ คนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทได้ ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ซึ่งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และนายประสิทธิ์ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย พร้อมประทับตราของบริษัทจำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ โจทก์นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทโดยเหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” นายประสิทธิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๑ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๔ เป็นผู้จัดการมรดกของนายประสิทธิ์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๘๕๕๑/๒๕๔๑ ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๔ ว่า นายประสิทธิ์จะต้องร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทเป็นการส่วนตัวหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ จะได้จดทะเบียนโดยปรากฏข้อความในรายการเอกสารทะเบียนว่า นายประสิทธิ์เป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ นายประสิทธิ์กับกรรมการอื่นอีก ๒ คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ ๑ ลงชื่อผูกพันจำเลยที่ ๑ ได้ ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุบลราชธานี แต่จำเลยที่ ๑ เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี โดยให้ตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเฉพาะกรรมการอื่น ๔ คน โดยไม่ปรากฏตัวอย่างลายมือชื่อของนายประสิทธิ์ด้วย การที่นายประสิทธิ์ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยไม่มีอำนาจสั่งจ่ายแทนจำเลยที่ ๑ และมิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ ๑ แล้วนำเช็คพิพาทไปแลกกับเช็คซึ่งนายประสิทธิ์สั่งจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ส่วนตัว นายประสิทธิ์จึงต้องร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทเป็นการส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๐
ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า โจทก์อ้างจำเลยที่ ๒ เป็นพยานเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และจำเลยที่ ๒ เบิกความนอกเหนือจากคำฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๗ บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายหนึ่งจะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตนหรือจะอ้างตนเองเป็นพยานก็ได้ เมื่อกฎหมายบัญญัติให้สิทธิไว้เช่นนี้ การที่โจทก์อ้างจำเลยที่ ๒ เบิกความเป็นพยานโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ส่วนที่โจทก์ละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนดเวลา ๑ เดือน หรือ ๓ เดือน นับแต่วันออกเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๐ วรรคหนึ่ง คงมีผลเพียงทำให้โจทก์สิ้นสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้สลักหลัง และเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการละเลยไม่ยื่นเช็คนั้น ความเสียหายเพราะการละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทในกำหนดนั้นเป็นหน้าที่ผู้สั่งจ่ายจะต้องพิสูจน์เพื่อให้พ้นความรับผิด แต่จำเลยที่ ๔ ไม่ได้นำสืบว่าการที่โจทก์ละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทภายในกำหนด ทำให้เกิดความเสียหายแก่นายประสิทธิ์ ดังนั้น นายประสิทธิ์จึงไม่พ้นความรับผิดตามเช็คพิพาทในฐานะผู้สั่งจ่าย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๔ ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์เบิกความว่า ให้นายประสิทธิ์ยืมเงิน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท ไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๕ ที่บัญญัติว่า ผู้สมัครแต่ละคนจะใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดเกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ การกู้ยืมเงินตามเช็คพิพาทจึงตกเป็นโมฆะนั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๔ จะมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จำเลยที่ ๔ ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง และมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง และที่โจทก์ให้นายประสิทธิ์ยืมเงิน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๙ เป็นการยืมเงินก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประมาณ ๖ เดือน และเช็คตามเอกสารหมาย จ. ๕ ซึ่งนายประสิทธิ์ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ก็มีกำหนดสั่งจ่ายในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๙ ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง ๕ เดือนเศษ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ให้นายประสิทธิ์ยืมเงินเพื่อสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๒ ที่แก้ไขแล้ว การออกเช็คพิพาทแลกกับเช็คตามเอกสารหมาย จ. ๕ จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่เสียเกินมาศาลละ ๘,๔๑๕ บาท แก่จำเลยที่ ๔.

Share