คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6785/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ ทางด้านความมั่นคงคนต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาประกอบอาชญากรรมซึ่งเป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติ และโดยที่คนต่างด้าวดังกล่าวไม่มีเอกสารหลักฐานประจำตัวของทางราชการไทยและไม่อยู่ในฐานะที่จะแจ้งที่อยู่ในทะเบียนบ้านได้จึงยากแก่การควบคุมดูแลตลอดจนสืบหาติดตามตัวอันทำให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมซึ่งก่อโดยคนต่างด้าวเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้นทางด้านสาธารณสุขนอกจากคนต่างด้าวจะนำเชื้อโรคซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในประเทศของตนเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยแล้ว เมื่อคนต่างด้าวเหล่านั้นเจ็บป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลสถานพยาบาลและโรงพยาบาลของรัฐย่อมไม่อาจปฏิเสธการรักษาพยาบาลได้ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณด้านสาธารณสุขในแต่ละปีโดยไม่จำเป็นเป็นจำนวนมากและทางด้านสังคมคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรมักจะเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทยในด้านแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมโดยมีผู้ประกอบการและนายจ้างบางรายที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนในการจ้างแรงงานราคาถูกเพื่อประสงค์จะลดต้นทุนการผลิตโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่ตามมา ทำให้คนไทยต้องกลายเป็นผู้ไม่มีอาชีพหรือตกงานเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยทั้งสามช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากถึง 1,661 คนถือเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ซึ่งมีคนต่างด้าวลักลอบเข้ามา อันส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ มิใช่เป็นความผิดเฉพาะของผู้เป็นเจ้าของโรงงานชั้นในดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกา พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2มีกำหนดคนละ 3 ปี และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 50,000 บาทจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 25,000 บาท หากจำเลยที่ 3ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า สมควรลงโทษจำคุกสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับมีเหตุลงโทษปรับจำเลยที่ 3 สถานเบาหรือไม่เห็นว่า การช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายนั้น เป็นการสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ ทางด้านความมั่นคงคนต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาประกอบอาชญากรรมซึ่งเป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติ และโดยที่คนต่างด้าวดังกล่าวไม่มีเอกสารหลักฐานประจำตัวของทางราชการไทยและไม่อยู่ในฐานะแจ้งที่อยู่ในทะเบียนบ้านได้ จึงยากแก่การควบคุมดูแลตลอดจนสืบหาติดตามตัวอันทำให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมซึ่งก่อโดยคนต่างด้าวเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้นทางด้านสาธารณสุขนอกจากคนต่างด้าวจะนำเชื้อโรคซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในประเทศของตนเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยแล้ว เมื่อคนต่างด้าวเหล่านั้นเจ็บป่วย จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล สถานพยาบาลและโรงพยาบาลของรัฐย่อมไม่อาจปฏิเสธการรักษาพยาบาลได้ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณด้านสาธารณสุขในแต่ละปีไปโดยไม่จำเป็นจำนวนมากและทางด้านสังคมคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรมักจะเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทยในด้านแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยมีผู้ประกอบการและนายจ้างบางรายที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนในการจ้างแรงงานราคาถูกเพื่อประสงค์จะลดต้นทุนการผลิตโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมา ทำให้คนไทยต้องกลายเป็นผู้ไม่มีอาชีพหรือตกงานเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยทั้งสามช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากถึง 1,661 คน ถือเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ซึ่งมีคนต่างด้าวลักลอบเข้ามาอันส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ มิใช่เป็นความผิดเฉพาะของผู้เป็นเจ้าของโรงงานชั้นในดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกา พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่จำเลยทั้งสามอ้างในฎีกาความว่า เดิมนโยบายของรัฐบาลผ่อนผันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเช่นจำเลยที่ 3 จ้างแรงงานคนต่างด้าวได้ ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนนโยบายไม่ยอมให้แรงงานต่างด้าวทำงานในประเทศไทยจำเลยที่ 3 ต้องผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศหากส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนด จำเลยที่ 3 ต้องถูกปรับทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจำเลยที่ 3 ไม่อาจหาแรงงานคนไทยมาทดแทนได้ จึงต้องจ้างแรงงานคนต่างด้าวนั้น เห็นว่า เหตุที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างเป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยทั้งสามจะอ้างเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวในการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ แก่ประเทศชาติซึ่งใหญ่หลวงยิ่งกว่า มาเป็นเหตุในการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมิได้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2กับลงโทษปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 50,000 บาท ก่อนลดโทษให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 25,000 บาท นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาความว่า ที่อำเภอแม่สอดมีการจ้างแรงงานคนต่างด้าวกันทุกบ้านมาเป็นเวลานานแต่ไม่มีผู้ใดไปจับกุมนั้น การที่มีผู้อื่นกระทำความผิดในทำนองเดียวกันกับจำเลยทั้งสาม แต่ไม่มีเจ้าพนักงานจับกุม ก็เป็นกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลต้องกวดขันดูแลเอาแก่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง หาได้ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายกลับไม่เป็นความผิด ทั้งไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองดังกล่าวได้ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share