คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6775-6776/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องอ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองยักยอกทรัพย์ซึ่งไม่เป็นความจริง สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิเหนือจำเลยคือโจทก์ทั้งสองถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือเหตุที่เลิกจ้างนั้นไม่มีอยู่จริง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดและคืนเงินประกัน ซึ่งค่าเสียหายจากการละเมิดนั้นเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโจทก์ทั้งสองขอเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยจงใจกลั่นแกล้งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาฐานยักยอกแก่โจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิเหนือจำเลยคือจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริงว่าโจทก์ทั้งสองยักยอกทรัพย์ ด้วยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจากการร้องทุกข์นั้นทำให้โจทก์ทั้งสองถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นคดีอาญาได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถประกอบอาชีพในระหว่างถูกจับกุม แม้ว่าตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจะเป็นเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดเช่นกัน แต่เป็นการกระทำละเมิดเนื่องจากการร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องเดิม คำฟ้องภายหลังตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 179 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง กล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองยักยอกทรัพย์ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ทำงานกับจำเลยต่อไป ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง และคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า คำฟ้องภายหลังไม่เกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้ากับฟ้องเดิมได้ ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า คำฟ้องตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องอ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองยักยอกทรัพย์ซึ่งไม่เป็นความจริง สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิเหนือจำเลยคือโจทก์ทั้งสองถูกจำเลยเลิกจ้าง สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิเหนือจำเลยคือโจทก์ทั้งสองถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือเหตุที่เลิกจ้างนั้นไม่มีอยู่จริง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการการทำละเมิด และคืนเงินประกันสำหรับค่าเสียหายจากการทำละเมิดตามคำฟ้องเดิมโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เท่ากับโจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะเกิดจากฝ่ายโจทก์ทั้งสองผู้เป็นลูกจ้างหรือเกิดจากฝ่ายจำเลยผู้เป็นนายจ้าง ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโจทก์ทั้งสองขอเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยจงใจกลั่นแกล้งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาฐานยักยอกแก่โจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิเหนือจำเลยคือจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริงว่าโจทก์ทั้งสองยักยอกทรัพย์ ด้วยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจากการร้องทุกข์นั้นทำให้โจทก์ทั้งสองถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถประกอบอาชีพในระหว่างถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา ต้องเสียค่าว่าจ้างทนายความในคดีอาญา เสียหายต่อชื่อเสียงและจิตใจ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองไม่สามารถประกอบอาชีพในระหว่างถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา ค่าว่าจ้างทนายความในคดีอาญา ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงและจิตใจในการที่ถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา แม้ว่าตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจะเป็นการเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดเช่นกัน แต่เป็นการกระทำละเมิดเนื่องจากการร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องเดิม คำฟ้องภายหลังตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและยกคำร้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share