คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6775/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้ยื่นข้อเรียกร้อง แม้จะไม่มีรายละเอียด ต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องนั้น ก็ยังเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มิได้บัญญัติบังคับให้มติที่ประชุมใหญ่จะต้องมีรายละเอียดเช่นว่านั้น คำกล่าวของประธานในที่ประชุมสหภาพที่กล่าวในทำนองว่าสหภาพจำเป็นที่จะต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปีนั้นเป็นเพียงคำกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลของประธานต่อที่ประชุมใหญ่เท่านั้นหาได้หมายความว่าให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในกำหนดสิ้นปีด้วย เมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้ยื่นข้อเรียกร้อง และสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยภายในระยะเวลาสมควรแล้ว แม้จะล่วงเลยวันสิ้นปีก็ตาม ก็ถือเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดโดยโจทก์แต่ละคนมิได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์แต่ละคนได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย เงินโบนัส ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าขาดรายได้ตามจำนวนเงินในฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยรับโจทก์บางคนกลับเข้าทำงาน

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดได้ร่วมกันผละงานหรือนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทุกคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสหภาพแรงงานเพราะสหภาพแรงงานไม่มีมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกให้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย มติที่ประชุมใหญ่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 103 และไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสหภาพแรงงานโจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิที่จะนัดหยุดงาน จำเลยได้มีหนังสือตักเตือนพร้อมมีคำสั่งให้โจทก์ทุกคนกลับเข้าทำงานตามปกติ แต่โจทก์ทุกคนไม่ปฏิบัติ จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทุกคนได้โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดการที่โจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดนัดหยุดงานเป็นการละทิ้งหน้าที่และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน12,660,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทุกสำนวนและบังคับโจทก์แต่ละคนจ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามคำให้การและฟ้องแย้ง

โจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทุกคนมิได้กระทำผิด ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายดังฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย ค่าจ้างสำหรับหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์สำนวนที่ 19 ถึงที่ 241 และจำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 และข้อบังคับของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์มิได้บังคับว่ามติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้ยื่นข้อเรียกร้อง จะต้องมีรายละเอียดว่าให้เรียกร้องสิ่งใดและตั้งใครเป็นผู้แทนในการเจรจาตามที่จำเลยอ้าง มติที่ประชุมใหญ่จึงเป็นมติที่ชอบด้วยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 103(2) และข้อบังคับของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ข้อ 34(9)การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อความที่ว่า “ประธานกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเลย ฉะนั้นในปีนี้เราจำเป็นจะต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปี 2539นี้ จึงอยากให้ที่ประชุมลงมติว่าเราจะยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่ยื่น” มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าเป็นเพียงคำกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลของประธานต่อที่ประชุมใหญ่ว่าเพราะเหตุใดจึงขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่เท่านั้น หาได้หมายความว่าให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในกำหนดระยะเวลาใดคือภายในสิ้นปี 2539 ด้วยไม่ เมื่อที่ประชุมใหญ่มิได้ลงมติไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในปี 2539 และไม่มีกฎหมายบังคับว่าการยื่นข้อเรียกร้องจะต้องกระทำในระยะเวลาใด เพียงแต่ถ้าประสงค์จะให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่มีผลใช้บังคับต่อเนื่องกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม ก็จะต้องยื่นข้อเรียกร้องเสียก่อนที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมจะสิ้นระยะเวลาใช้บังคับเท่านั้น สหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์จึงสามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยได้ภายในระยะเวลาอันสมควร นับตั้งแต่ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ยื่นข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย จ.12 หรือ ล.8 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 จนถึงวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2540 ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยมาก่อน การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ที่ 35 และโจทก์ที่ 239 ให้จำเลยจ่ายเป็นเงิน 20,958 บาท และ31,291 บาท ตามลำดับ กับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 239 ให้จำเลยจ่ายเป็นเงิน 112,650 บาท และ7,510 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคนนับตั้งแต่วันเลิกจ้างคือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 18นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540 โจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 นับตั้งแต่วันที่ 10มีนาคม 2540 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share