แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2514 จำเลยกระทำความผิดสามกรรมต่างกัน คือฐานมีอาวุธปืนฯไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กระทงหนึ่ง ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและกระทำอนาจารแก่หญิงนั้น (กระทงหนึ่ง) สองบท และฐานประทุษร้ายหญิงผู้ถูกพาไปนั้นถึงอันตรายแก่กายอีกกระทงหนึ่งซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ให้อำนาจศาลที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หรือจะลงเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2514 เป็นต้นไป ข้อ 2 ของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91 เดิมนั้นเสีย โดยให้ใช้ข้อความในประกาศดังกล่าวนั้นแทน ซึ่งให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดหลายกรรมทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวออกมาบัญญัติการวางโทษแตกต่างกับกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เดิมแก่จำเลย และลงโทษจำเลยเฉพาะฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นกระทง(และบท) ที่หนักที่สุดแต่กระทงเดียวได้
ย่อยาว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์และจำเลยให้การรับสารภาพว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2514 จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนลูกซองพก 1 กระบอกไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต จำเลยกับพวกอีก 2 คนมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธขู่เข็ญ พานางสาวลาวัลย์ เวทยา อายุ 17 ปี ไปเพื่อการอนาจาร เมื่อนางสาวลาวัลย์ เวทยา ขัดขืนระหว่างทาง จำเลยก็ใช้มีดนั้นแทงนางสาวลาวัลย์ เวทยา ที่แขนหลายทีได้รับบาดเจ็บถึงอันตรายแก่กาย พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 284, 295 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 อันเป็นบทและกระทงหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ที่ใช้บังคับใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่าจะนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ข้อ 2 มาใช้บังคับในคดีนี้ได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดหลายบทหลายกระทง ให้ลงโทษบทและกระทงที่หนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91 แต่ขณะนี้ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2514 ตามประกาศ ฯ ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความในมาตรา 91 ใหม่ มีข้อความว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ถ้าความผิดกระทงใดมีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปี” แต่ตามมาตรา 91 เดิมนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หรือจะลงโทษเฉพาะกระทงหนักที่สุดก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้แต่การวางโทษเรียงกระทงตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ที่แก้ไขมาตรา 91 นี้ให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ไม่ให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะเลือกใช้ดังมาตรา 91 เดิม เมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 2 มาบัญญัติการวางโทษแตกต่างกับกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 นี้ จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย
พิพากษายืน