คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6753/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บุคคลใดจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานของหนี้ที่ฟ้องนั้นจะต้องพิจารณาทั้งตามกฎหมายสารบัญญัติและข้อเท็จจริง โจทก์ทั้งสี่มีที่ดินอยู่ติดต่อกันถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายโดยถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯลฯ ฉบับเดียวกัน และโจทก์ทั้งสี่ถูกกำหนดให้ได้รับค่าทดแทนที่ดินโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเป็นผู้กำหนดโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์พื้นฐานโดยรวมในการกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่เห็นว่าไม่เป็นธรรมข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุรากฐานแห่งหนี้ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเกิดจากการกระทำอันเดียวกันคือจากหลักเกณฑ์ในการกำหนดให้ค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เป็นธรรมนั้นโจทก์ทั้งสี่ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดต่อกันมีสภาพของที่ดินและทำเลที่ตั้งเป็นแบบเดียวกันถูกจำเลยจ่ายค่าทดแทนโดยการกำหนดให้ในอัตราเท่ากันด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบธรรมอันเดียวกันกรณีถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงเป็นโจทก์ฟ้องร่วมกันมาในคดีเดียวกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32626 ตำบลบางกะปิ (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 69 ตารางวา โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 118403 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 66 ตารางวา โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 118405 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 66 ตารางวา โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่118406 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 66 ตารางวา ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสาธร-ลาดพร้าว (บริเวณโรงซ่อมบำรุง) ทั้งแปลง รับเงินค่าทดแทนโดยกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 20,000 บาท โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ที่ดินโจทก์ทั้งสี่มีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 80,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 4,140,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 3,960,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละคนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่

จำเลยให้การว่า ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสี่ตารางวาละ 20,000 บาท เป็นราคาสูงและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วมกัน เพราะเป็นเจ้าของที่ดินคนละแปลงแยกต่างหากจากกันคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้เป็นรายบุคคลและรายแปลงการแจ้งให้มารับเงินและทำสัญญาการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่างแยกกันทำต่างหากจากกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 690,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์แต่ละคนนับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2537จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 32626 เนื้อที่ 69 ตารางวา โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 118403 เนื้อที่ 66 ตารางวา โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่118405เนื้อที่ 66 ตารางวา โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 118406 เนื้อที่ 66 ตารางวาที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตั้งอยู่ตำบลบางกะปิ (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ที่ดินของโจทก์แต่ละคนถูกเวนคืนทั้งแปลงตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขนเขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อ และสายสาธร-ลาดพร้าวคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ในราคาตารางวาละ 20,000 บาท โจทก์ทั้งสี่ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกับจำเลยตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ตามเอกสารหมาย ล.33, ล.34, ล.35, และ ล.36 โจทก์ทั้งสี่ได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องคดีนี้เรียกค่าทดแทนเพิ่มพร้อมทั้งดอกเบี้ยของเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นโดยโจทก์ทั้งสี่และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในเรื่องขั้นตอนอื่นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นรวมกันมาในคดีเดียวกันได้หรือไม่ จำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องรวมในคดีเดียวกันเพราะโจทก์แต่ละคนไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 เห็นว่า บุคคลใดจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานของหนี้ที่ฟ้องนั้นจะต้องพิจารณาทั้งตามกฎหมายสารบัญญัติและข้อเท็จจริง โจทก์ทั้งสี่มีที่ดินอยู่ติดต่อกันถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายโดยถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯลฯ ฉบับเดียวกัน และโจทก์ทั้งสี่ถูกกำหนดให้ได้รับค่าทดแทนที่ดินโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเป็นผู้กำหนดโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2535 เป็นเกณฑ์พื้นฐานโดยรวมในการกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่เห็นว่าไม่เป็นธรรม ข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุรากฐานแห่งหนี้ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเกิดจากการกระทำอันเดียวกัน คือจากหลักเกณฑ์ในการกำหนดให้ค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เป็นธรรมนั้น โจทก์ทั้งสี่ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดต่อกันมีสภาพของที่ดินและทำเลที่ตั้งเป็นแบบเดียวกัน ถูกจำเลยจ่ายค่าทดแทนโดยกำหนดให้ในอัตราเท่ากันด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบธรรมอันเดียวกัน กรณีถือได้ว่า โจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีจึงเป็นโจทก์ฟ้องร่วมกันมาในคดีเดียวกันได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”

พิพากษายืน

Share