คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6751/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่เสร็จไปโดยการที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 นั้น เป็นผลจากการที่โจทก์ละทิ้งหรือทอดทิ้งคดีของตน ทำนองเดียวกับคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่ถอนฟ้องและทิ้งฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2)
คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มีผลอย่างเดียวกับคำพิพากษาของศาลที่ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่ออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ครบไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งจำหน่ายคดีถึงที่สุด
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 3,920 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ละเมิดประกันภัย เป็นเงินจำนวน 12,156,242.80 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ เป็นหนี้ที่ขาดอายุความ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1) (เดิม)
ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 เจ้าหนี้กับพวกยื่นฟ้องลูกหนี้กับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 542/2549 ใจความว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2548 นายทวี ซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำในทางการที่จ้างขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพขับรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 96 หมายเลขทะเบียน 11 – 9908 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่ลูกหนี้ไปตามถนนรามอินทรามุ่งหน้าด้านมีนบุรี เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณสามแยกถนนรามอินทรา แยกถนนสวนสยาม นายทวีขับรถเลี้ยวขวาจากถนนรามอินทราเข้าสู่ถนนสวนสยามด้วยความเร็วและปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถเสียหลักแล่นข้ามเกาะกลางถนนพุ่งเข้าชนอาคารของเจ้าหนี้ ทำให้อาคารและทรัพย์สินภายในอาคารของเจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ขอให้ลูกหนี้กับพวกใช้ค่าเสียหาย ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 เจ้าหนี้ขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1263/2550 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เจ้าหนี้ยื่นคำแถลงต่อศาลจังหวัดมีนบุรีขอให้คืนค่าขึ้นศาล ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำสั่งยกคำแถลง เจ้าหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน (ศาลจังหวัดมีนบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554) และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 เจ้าหนี้กับพวกยื่นฟ้องลูกหนี้กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดมีนบุรีเรื่องละเมิดและประกันภัยเป็นคดีใหม่อีกครั้งตามคดีหมายเลขดำที่ 1400/2550 ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 380/2553 เจ้าหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน (ศาลจังหวัดมีนบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 18 มกราคม 2555) ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ทั้งสองคดีข้างต้น เจ้าหนี้นำมูลหนี้ที่ได้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดมีนบุรีดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้คดีนี้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2553
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า การที่เจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องลูกหนี้ให้รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยมาแล้ว ศาลจังหวัดมีนบุรีจำหน่ายคดีเนื่องจากเจ้าหนี้ขาดนัด เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้คดีที่เจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องขอให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยจะเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุเจ้าหนี้ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 แต่การที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเป็นผลจากการที่ละทิ้งหรือทอดทิ้งคดีของตน ทำนองเดียวกับคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่ถอนฟ้องและทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ดังนั้น เจ้าหนี้ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (2) อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งมีกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง จึงหาสะดุดหยุดลงดังที่เจ้าหนี้อ้างในอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลจังหวัดมีนบุรีที่จำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 203 ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา 202 แต่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ (เจ้าหนี้) ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่ แม้เจ้าหนี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีก่อนโดยอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงก็ตาม แต่เมื่อคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดมิได้เสร็จไปเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้องโดยแท้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง คำสั่งของศาลที่ให้จำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาย่อมมีผลอย่างเดียวกับคำพิพากษาของศาลที่ยกคำฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า หากอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดได้ เมื่อคำสั่งของศาลจังหวัดมีนบุรีที่ให้จำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 203 จึงเป็นที่สุดในวันที่ได้อ่านคำสั่งให้คู่ความฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคหนึ่ง คือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ซึ่งมีกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2548 จึงครบไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยในมูลหนี้เดียวกันนั้นอีก ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1400/2550 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ซึ่งอยู่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งจำหน่ายคดีถึงที่สุด และในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดในคดีนี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ซึ่งเจ้าหนี้ก็ได้นำมูลหนี้ดังกล่าวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดระยะเวลาสองเดือนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และ 91 ในระหว่างที่อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ดังกล่าวได้สะดุดหยุดลงในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่จะเรียกให้ลูกหนี้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยจึงหาขาดอายุความไม่ ส่วนคดีแพ่งที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์และลูกหนี้ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีต่อไป ทั้งที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้เดียวกันไปขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการเรียกให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยอ้างว่าเป็นฟ้องซ้อนซึ่งไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 เมื่อเจ้าหนี้ได้ขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความสะดุดหยุดลงในการฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 1400/2550 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ว่าสิทธิเรียกร้องตามที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ขาดอายุความแล้ว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด ปัญหาดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้ทำความเห็นเสนอศาล แต่เมื่อคดีนี้ได้ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้แล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งก่อน เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานที่เจ้าหนี้อ้างส่งในสำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้วรับฟังได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สิน 1,000,000 บาท ต่อครั้ง เหตุละเมิดรถชนครั้งนี้มีผู้ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สิน 2 ราย ลูกหนี้จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดรถชนครั้งนี้รวมแล้วไม่เกิน 1,000,000 บาท ตามที่ระบุในกรมธรรม์ เมื่อได้ความว่าทรัพย์สินของเจ้าหนี้ถูกรถคันเกิดเหตุชนจนได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 12,156,242.80 บาท เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ลูกหนี้ในฐานะผู้รับประกันภัยรถคันเกิดเหตุรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ได้ตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่เมื่อได้ความว่านอกจากเจ้าหนี้คดีนี้แล้วยังมีนางสาวพรรณรวี เจ้าหนี้รายที่ 3919 ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินจากเหตุละเมิดครั้งเดียวกันนี้อีกเป็นเงิน 794,965.28 บาท จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้รายดังกล่าวตามอัตราส่วนความเสียหายของแต่ละราย แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1,000,000 บาท เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 938,600 บาท
พิพากษากลับอนุญาตให้บริษัทสยามศิลป์แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 938,600 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share