คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและความผิดฐานขายโดยมีไว้เพื่อขายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ได้ปรับบทลงโทษความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมาด้วย จึงไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง
หลังจากจำเลยกระทำความผิดได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) กำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมาตรา 15 วรรคสอง ที่ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า โดยต้องถือว่าจำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ และต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่ในส่วนเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เดิมเป็นคุณมากกว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ในส่วนโทษปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่า โทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง มาปรับบทลงโทษจำเลย
ความผิดฐานขายโดยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นความผิดตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 89 แต่ข้อหาฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัม ไว้ในครองครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด เป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสอง มีโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง มีโทษหนักกว่าโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณมากกว่า และแม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัมขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม บัญญัติโทษหนักกว่าโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เดิม กรณีจึงยังคงต้องใช้ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดมาปรับบทลงโทษจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง
เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและความผิดฐานขายโดยมีไว้เพื่อขายเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนเดียวกันและเป็นการมีไว้คราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ต้องลงโทษจำเลยฐานขายโดยมีไว้เพื่อขายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ที่เป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความทั้งสองจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ 116 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 15 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เหตุเกิดในเวลากลางวัน พยานโจทก์มีดาบตำรวจพัฒน์พงษ์และสิบตำรวจโทหญิงวันเพ็ญเบิกความยืนยันว่า พยานทั้งสองพบจำเลยที่สถานีบริการน้ำมัน และได้พูดคุยติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย นอกจากนี้นายคำเพียงและนางลัยยังให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2602/2540 ว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้ และนายคำเพียงยังให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนที่นำมาจำหน่ายในคดีนี้ แม้นางลัยเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานไม่เคยเกี่ยวข้องกับจำเลย แต่นางลัยให้การตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาดังกล่าว หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน ไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งเป็นอย่างอื่น เชื่อว่านางลัยให้การตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ตามความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในคดีนี้ซึ่งเป็นการบ่ายเบี่ยงเพื่อช่วยเหลือจำเลย จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นความจริง นอกจากนี้ จำเลยยังนำสืบว่า จำเลยไม่ใช่นายอ้วน แต่นายสมรบิดาจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า ชาวบ้านเรียกจำเลยว่านายอ้วน จึงขัดกันซึ่งเป็นข้อพิรุธของจำเลยด้วย และยังได้ความว่าหลังจากจับกุมนายคำเพียงและนางลัยแล้ว ดาบตำรวจพัฒน์พงษ์ได้ไปตามพวกของนายคำเพียงที่เหลือ แต่ไม่พบ แสดงว่ามีการติดตามจับกุมจำเลยในวันเกิดเหตุ พยานโจทก์ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีข้อให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลย สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยนั้นไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้มั่นคงว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดตามฟ้องจริง ไม่มีข้อพิรุธหรือเหตุสงสัยแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและความผิดฐานขายโดยมีไว้เพื่อขายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ได้ปรับบทลงโทษตามความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมาด้วยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง นอกจากนี้ หลังจากจำเลยกระทำความผิดได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) กำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 119.3 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด มาตรา 15 วรรคสอง ที่ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า โดยต้องถือว่าจำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 67 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ และต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่ในส่วนเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เดิมเป็นคุณมากกว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ในส่วนโทษปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขจะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 วรรคหนึ่ง มาปรับบทลงโทษจำเลย
ส่วนความผิดฐานขายโดยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นความผิดตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง 89 แต่ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด เป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสอง 66 วรรคสอง มีโทษหนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณมากกว่า และแม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่คดีนี้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัมขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม บัญญัติโทษหนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เดิม ดังนี้ กรณีจึงยังคงต้องใช้พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดมาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและความผิดฐานขายโดยมีไว้เพื่อขายเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนเดียวกันและเป็นการมีไว้คราวเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว คงลงโทษจำเลยฐานขายโดยมีไว้เพื่อขายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ที่เป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความทั้งสองจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง 89 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) 67 (ที่แก้ไขใหม่) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.

Share