คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6749/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา680 วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ดังนั้น ข้อตกลงนอกเหนือสัญญาค้ำประกันว่า หากบริษัท ง. ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือเมื่อดำเนินการบังคับคดีแล้วได้ทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงจะชำระหนี้แทนดังที่ผู้ร้องอ้างและนำสืบด้วยพยานบุคคลอันเป็นการเพิ่มเติมเอกสารสัญญาค้ำประกัน จึงต้องห้ามมิให้รับฟัง
สัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้กับผู้ล้มละลาย มีความว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเป็นผู้สาบสูญ หรือตาย หรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่โดยหาตัวไม่พบ หรือกรณีอื่นใดที่ทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนี้ย่อมมีความหมายว่า ผู้ร้องยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ของบริษัท ง. เหตุนี้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ผู้คัดค้านเรียกให้บริษัท ง. ชำระหนี้ก่อนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 691
แม้สัญญาประนีประนอมยอมความ ตลอดจนสัญญาค้ำประกัน และตารางการผ่อนชำระหนี้ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อความว่าผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นรายเดือน แต่เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/32 มิใช่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 เพราะมิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
มูลหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาค้ำประกันเกิดจากตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อได้ความว่าขณะเกิดกรณีพิพาทผู้ล้มละลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจเงินทุนมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้สูงสุดถึงอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ผู้ล้มละลายจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ผู้ร้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับจากวันที่ 6มิถุนายน 2534 ย้อนหลังขึ้นไป 5 ปี คือวันที่ 6 มิถุนายน 2529 และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ร้องในปัญหานี้ให้เพราะเห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดี ผู้ร้องฎีกาอ้างเพียงว่า การคิดดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33(1) ฎีกาของผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share