คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเข้าทำการขนส่งในเส้นทางใดในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางนั้น คือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธาณะคือบริษัท พ. จำเลยที่ 1 เป็นเพียงคนขับรถ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายเดินรถของบริษัท พ. มิใช่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธาณะ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดความมาตรา 14
ผู้ที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 51 คือ ผู้ที่ประกอบการรับจัดการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อปรากฏว่าการขนส่งคนโดยสารเป็นการประกอบการรับจัดการขนส่งของบริษัท พ. จำเลยที่ 1 เป็นเพียงบุคคลที่ทำหน้าที่ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งโดยเป็นคนขับหรือควบคุมเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ดำเนินการรับจัดการขนส่งแทนบริษัท พ. ในฐานะที่เป็นผู้จัดการฝ่ายเดินรถของบริษัท พ. ดังนี้ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามมาตรา 51

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๑๗ เวลาประมาณ ๒๒.๓๐ นาฬิกาจำเลยทั้งสองซึ่งได้รับใบอนุญาตขนส่งสาธารณะ ร่วมกันนำรถยนต์หมายเลข ก.ท.พ. ๐๓๕๓ มาทำการขนส่งในเส้นทางระหว่าง เชียงราย-กรุงเทพมหานคร ในลักษณะที่เป็นการแข่งขัน โดยรวมรวมคนโดยสารไว้เพื่อการขนส่งโดยไม่รับอนุญาต ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับจัดการขนส่งในนามของบริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๔,๕๑,๕๙,๖๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๔, ๕๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้เรียงกระทงลงโทษ ปรับจำเลยทั้งสองตามมาตรา ๑๔, ๖๐ คนละ ๒,๐๐๐ บาท และปรับตามมาตรา ๕๑ คนละ ๒,๐๐๐ บาท รวมปรับคนละ ๔,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทขนส่งจำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดเชียงราย บริษัทพัฒน์ทัวร์จำกัดได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์โดยสารเกิน ๗ คน (รับจ้างพิเศษ) ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ผู้รับอนุญาตจะต้องไม่รับจ้างหาผลประโยชน์โดยรับส่งคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวบุคคลในถนนที่ได้รับอนุญาตให้มีการเดินรถประจำทางแล้ว หรือในเขตจากถนนนั้นๆ ไม่เกิน ๑๐๐ เมตร ในเมื่อยังมีคนโดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น เว้นแต่เป็นการรับส่งนักเรียน นักทัศนาจร หรือการรับส่งชั่วครั้งคราว ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน และผู้รับอนุญาตต้องไม่ทำการขนส่งเพื่อสินจ้างในเส้นทางใดในลักษณะที่เป็นการเข่งขันเป็นปกติธุระกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารในเส้นทางนั้น และบริษัทสยามโค๊ช จำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์โดยสารเกิน ๗ คน (รับจ้างพิเศษ) ตามเอกสารหมาย จ.๑๕ ซึ่งมีข้อกำหนดเช่นเดียวกับเอกสารหมาย จ.๑๐ รถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ.๐๓๕๓ เป็นของบริษัทสยามโค๊ช จำกัด จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของบริษัทสยามโค๊ช จำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการและเป็นผู้จัดการฝ่ายเดินรถของบริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด บริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด เช่ารถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ.๐๓๕๓ ของบริษัทสยามโค๊ช จำกัด มารับส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัดเชียงรายกับกรุงเทพมหานคร ในนามของบริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นคนขับ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ.๐๓๕๓ รับคนโดยสารเพื่อสินจ้างจากจังหวัดเชียงรายไปกรุงเทพมหานคร และแวะรับคนโดยสารเพื่อสินจ้างที่อำเภอพะเยาตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ด้วย เมื่อจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์มาถึงหน้าสถานีตำรวจทางหลวงจังหวัดลำปาง ก็ถูกจับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเข้าทำการขนส่งในเส้นทางใดในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางนั้น” จึงเห็นได้ว่าผู้ที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการจนส่ง พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๔ คือผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ และผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะรายนี้คือบริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด มิใช่จำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงคนขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ.๐๓๕๓ และจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงกรรมการและผู้จัดการฝ่ายเดินรถของบริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด มิใช่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๔ และพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕๑ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบการรับจัดการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน” จึงเห็นได้ว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕๑ คือผู้ที่ประกอบการรับจัดการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน แต่ปรากฏว่าการขนส่งคนโดยสารรายนี้เป็นการประกอบการรับจัดการขนส่งของบริษัทพัฒน์ทัวร์หรือควบคุมเครื่องอุปกรณ์การขนส่งซึ่งพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓๔ บัญญัติบังคับไว้โดยเฉพาะแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ดำเนินการรับจัดการขนส่งแทนบริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด ในฐานะที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการฝ่ายเดินรถของบริษัทพัฒน์ทัวร์ จำกัด จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕๑
พิพากษายืน

Share