แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.รัษฎากร มาตรา 83/5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการขายทอดตลาด ให้ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสีย” และวรรคสองบัญญัติว่า “ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่และกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 และให้นำมาตรา 54 และมาตรา 55 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี” และมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย นอกจากนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ทำหน้าที่ทอดตลาด จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า ราคาหรือเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ที่ผู้ซื้อนำมาชำระแก่กรมบังคับคดีเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว การที่กรมบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์จนหมด โดยมิได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยตามมาตรา 83/5 จึงเป็นกรณีที่กรมบังคับคดีได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อและหักภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วแต่มิได้นำส่งแก่จำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชำระเงินภาษีแต่ฝ่ายเดียว มีผลให้โจทก์พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าจำนวนที่กรมบังคับคดีได้หักไว้แล้วนั้น ตามมาตรา 54 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) สำหรับการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกันยายน 2548 และเดือนภาษีตุลาคม 2548 และขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.6 (นฐ)/6/2553 และ เลขที่ สภ.6 (นฐ)/7/2553 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ ภ.พ.73.1-06737061-25520408-005-00470 ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 และเลขที่ ภ.พ.73.1- 06731061-25520408-005-00471 ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.6 (นฐ)/6/2553 และเลขที่ สภ.6 (นฐ)/7/2553 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ กค.77/2548 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์โจทก์ออกขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรและชิ้นส่วนเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์ของโจทก์ออกขายทอดตลาดและมีผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้ในราคา 96,000,000 บาท ผู้ซื้อชำระราคา 3 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 21 กันยายน 2548 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 กันยายน 2548 เป็นเงิน 2,000,000 บาท และครั้งที่ 3 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2548 เป็นเงิน 89,000,000 บาท ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินของกรมบังคับคดี ซึ่งราคาทรัพย์ดังกล่าวเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ขายทอดตลาดรับชำระเงินจากผู้ซื้อและนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เดือนภาษีกันยายน 2548 ภายในกำหนดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 ไม่มียอดขาย ไม่มีภาษีขาย มีแต่ยอดซื้อและภาษีซื้อ เป็นภาษีที่ชำระเกินยกไป 167,121.62 บาท และโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของเดือนภาษีตุลาคม 2548 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 มียอดขาย 7,911.54 บาท ภาษีขาย 553.81 บาท มียอดซื้อ 14,898,150.23 บาท ภาษีซื้อ 1,042,870.53 บาท เป็นภาษีที่ชำระเกินยกไป 1,043,424.34 บาท โดยโจทก์ไม่ได้นำรายรับจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมารวมคำนวณยื่นภาษีขายของเดือนภาษีดังกล่าว ต่อมาโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เดือนภาษีพฤศจิกายน 2550 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 1,380,407.54 บาท โดยจำนวนเงินที่ขอคืนดังกล่าวมีภาษีที่ชำระเกินยกมาของเดือนภาษีกันยายน 2548 และเดือนภาษีตุลาคม 2548 รวมอยู่ด้วย และโจทก์ได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของทั้งสองเดือนภาษีแล้ว ตามหนังสือแจ้ง ภ.พ.72-06730061-25510530-005-00833 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 จากการตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ตามหนังสือนำตัวที่ กค.07143/555 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ผลการตรวจปฏิบัติการพบว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 โจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยกรมบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ เป็นเงิน 96,000,000 บาท แต่โจทก์มิได้นำรายการดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีแต่อย่างใด เจ้าพนักงานประเมินจำเลยจึงออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 73.1) ของเดือนภาษีกันยายน 2548 เป็นภาษี 6,113,252.21 บาท เบี้ยปรับ 6,280,373.83 บาท เงินเพิ่ม 2,934,361.06 บาท รวมเป็นเงิน 15,327,987.10 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ ภ.พ. 73.1-06730061-25510522-00500214 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามเลขรับอุทธรณ์ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยได้ออกหนังสือเเจ้งยกเลิกหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าว และออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกันยายน 2548 และเดือนภาษีตุลาคม 2548 โดยให้เหตุผลว่า โจทก์มิได้ยื่นยอดขายจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยกรมบังคับคดีที่ผู้ซื้อชำระไว้ในเดือนกันยายน 2548 จำนวน 7,000,000 บาท ซึ่งเป็นยอดขายที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วจำนวน 457,943.93 บาท โจทก์จึงยื่นยอดขายแจ้งไว้ขาดจำนวน 6,542,056.07 บาท ภาษีขาย 457,943.93 บาท และโจทก์มิได้ยื่นยอดขายจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยกรมบังคับคดีที่ผู้ซื้อชำระไว้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2548 จำนวน 89,000,000 บาท ซึ่งเป็นยอดขายที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วจำนวน 5,822,429.91 บาท โจทก์จึงยื่นยอดขายแจ้งไว้ขาดจำนวน 83,177,570.09 บาท ภาษีขาย 5,822,429.91 บาท และประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกันยายน 2548 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 457,943.93 บาท เบี้ยปรับ 1 เท่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) เป็นเงิน 457,943.93 บาท เงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 คำนวณถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 เป็นเงิน 295,373.83 บาท รวมภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 1,211,261.69 บาท และประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีตุลาคม 2548 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,822,429.91 บาท เบี้ยปรับจากการที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) ของเดือนภาษีตุลาคม 2548 ภายในกำหนดเวลาอีก 2 เท่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (2) เป็นเงิน 11,644,859.82 บาท เงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 คำนวณถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 เป็นเงิน 3,668,130.84 บาท รวมภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 21,135,420.57 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ ภ.พ. 73.1-06731061-25520408-005-00470-00470 และเลขที่ ภ.พ. 73.1-06731061-25520408-005-00470-00471 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ในส่วนเบี้ยปรับนั้นเห็นว่า กรมบังคับคดีมิได้เรียกเก็บภาษีจากผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร แต่เกิดจากความไม่เข้าใจในข้อกฎหมาย ให้งดเบี้ยปรับทั้งหมดแก่โจทก์ ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.6 (นฐ)/6/2553 และ เลขที่ สภ.6 (นฐ)/7/2553 โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงมาฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการขายทอดตลาด ให้ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสีย” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่และกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 และให้นำมาตรา 54 และมาตรา 55 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี” และมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักเงินภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ทำหน้าที่ทอดตลาด จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า ราคาหรือเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์จำนวน 96,000,000 บาท ที่ผู้ซื้อนำมาชำระแก่กรมบังคับคดีนั้นเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว การที่กรมบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์จนหมด โดยมิได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยตามที่มาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จึงเป็นกรณีที่กรมบังคับคดีได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อและหักเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วแต่มิได้นำส่งแก่จำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว จึงมีผลให้โจทก์พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าจำนวนที่กรมบังคับคดีได้หักไว้แล้วนั้น ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ