คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อขับรถในเวลากลางคืนผู้ขับรถต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา11,15กฎกระทรวงและข้อกำหนดของกรมตำรวจที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่จำเลยที่2ขับรถบรรทุกของจำเลยที่1บรรทุกรถแทรกเตอร์ซึ่งมีใบมีดจานไถยื่นล้ำออกมานอกตัวรถบรรทุกโดยมิได้ติดไฟสัญญาณไว้ที่ปลายใบมีดจานไถทั้งสองข้างเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่นๆต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่2เป็นฝ่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา422นอกจากนี้บริเวณจุดชนอยู่ในช่องเดินรถโดยสารปรับอากาศที่จำเลยที่4ขับสวนทางมาจึงฟังได้ว่าเหตุเฉี่ยวชนกันเกิดจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่2ด้วย จำเลยที่4ขับรถโดยสารปรับอากาศด้วยความเร็วสูงเมื่อขับลงเนินความเร็วของรถยนต์จะต้องเพิ่มขึ้นกว่าเดิมขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนเมื่อเห็นมีแสงไฟของรถยนต์ที่สวนมาเห็นได้ไกลจำเลยที่4จะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นโดยลดความเร็วให้ช้าลงแต่จำเลยที่4ยังคงขับรถโดยสารปรับอากาศต่อไปด้วยความเร็วสูงจนเกิดอุบัติเหตุจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่4เมื่อเป็นเหตุให้ชนกับรถบรรทุกรถแทรกเตอร์ที่จำเลยที่2ขับมาโดยใบมีดจานไถของรถแทรกเตอร์ล้ำออกนอกตัวรถและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถโดยสารปรับอากาศและโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่2และที่4ต่างฝ่ายต่างทำละเมิดแต่ละฝ่ายจึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์แต่ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา438ที่ศาลล่างทั้งสองแบ่งส่วนแห่งความรับผิดโดยให้จำเลยที่2รับผิด2ส่วนส่วนจำเลยที่4รับผิด1ส่วนนับว่าถูกต้องและเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-0375 กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถโดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-8314 กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นผู้ได้รับสัมปทานการเดินรถโดยสารประกอบการขนส่งคนโดยสาร โดยรับรถยนต์ของจำเลยที่ 3 เข้าร่วมขนคนโดยสารหาประโยชน์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527โจทก์โดยสารรถโดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-8314 กรุงเทพมหานครจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดภูเก็ต โดยมีจำเลยที่ 4เป็นผู้ขับรถโดยสารปรับอากาศคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ไปตามถนนเพชรเกษม เมื่อถึงที่เกิดเหตุระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 417 ถึง 418 ตำบลช้างแรกอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-0375 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บรรทุกรถแทรกเตอร์จากจังหวัดพังมุ่งหน้าไปยังกรุงเทพมหานครแล่นสวนทางมา จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2ต่างขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยจำเลยที่ 4ขับรถโดยสารปรับอากาศด้วยความเร็วสูงและแล่นปัดไปมา จำเลยที่ 2ขับรถบรรทุกซึ่งบรรทุกรถแทรกเตอร์ล้ำออกนอกตัวรถและล้ำแนวกึ่งกลางถนน โดยไม่ได้ให้สัญญาณไฟเป็นเหตุให้ใบมีดจานไถของรถแทรกเตอร์ซึ่งอยู่บนรถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนถูกด้านขวาของรถโดยสารปรับอากาศที่จำเลยที่ 4 ขับด้านขวาตั้งแต่บริเวณที่นั่งคนขับไปถึงท้ายรถทำให้โจทก์และผู้โดยสารอื่นอีกหลายคนได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 838,658 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน780,147 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อเหตุเกิดจากจำเลยที่ 4 ขับรถโดยสารปรับอากาศล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้ามาในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูงแซงรถยนต์อีกคันหนึ่งอย่างกระชั้นชิดแล้วหักหลบเข้าช่องเดินรถของตนไม่ทันจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนประมาทด้วย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุเกิดความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 5 ให้การว่า เหตุรถชนกันมิได้เกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 แต่เกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายถึงจำนวนตามที่เรียกร้องมา ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-0375 กรุงเทพมหานคร เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยที่ 1 นำรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน84-0375 กรุงเทพมหานคร ไปรับจ้างขนส่งรถแทรกเตอร์ โดยผิดเงื่อนไขที่ตกลงกับจำเลยร่วมซึ่งระบุว่า รถที่จำเลยที่ 1เอาประกันภัยจะต้องใช้เป็นรถส่วนบุคคลไม่ใช่รับจ้างหรือให้เช่าเหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4แต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไป บางกรณีไม่มีกฎหมายรับรองให้เรียกร้องได้อย่างไรก็ตาม จำเลยร่วมจะรับผิดแทนผู้เอาประกันภัยเฉพาะความเสียหายที่เกิดต่อทรัพย์เท่านั้น และมีจำนวนไม่เกิน250,000 บาท ต่อคนและไม่เกิน 250,000 บาท ต่อเหตุที่เกิดขึ้น1 ครั้ง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยร่วม ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์จำนวน 280,147 บาท โดยให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้จำนวน 132,102.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 119,764.66 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดชำระหนี้จำนวน 103,002.44บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน93,382.34 บาท นับแต่วันถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมรับผิดชำระหนี้จำนวน 71,874.24 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 67,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมรับผิดเพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท และให้จำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 40,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินที่จะต้องรับผิดข้างต้นนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ จำเลย ที่ 1 ที่ 3 และ ที่ 4 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1เป็นผู้ครอบครองและใช้รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-0375 กรุงเทพมหานครโดยมีจำเลยที่ 2 ลูกจ้างเป็นผู้ขับ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถโดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-8314 กรุงเทพมหานครมีจำเลยที่ 4 ลูกจ้างเป็นผู้ขับระหว่างเกิดเหตุจำเลยที่ 3ได้นำรถโดยสารปรับอากาศคันดังกล่าวเข้าร่วมขนคนโดยสารกับจำเลยที่ 5 ซึ่งได้รับสัมปทานการเดินรถโดยสารประกอบการขนส่งคนโดยสารเพื่อหากำไรร่วมกัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527จำเลยที่ 2 ได้ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 บรรทุกรถแทรกเตอร์จากจังหวัดพังงาแล่นมาตามถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปยังกรุงเทพมหานครในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกมาถึงที่เกิดเหตุระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 417-418 ตำบลช้างแรกอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถโดยสารปรับอากาศของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 4 ขับจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าจะไปยังจังหวัดภูเก็ตในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งโดยสารมาในรถโดยสารปรับอากาศของจำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส ปัญหาแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เหตุที่รถทั้งสองคันชนกันเพราะจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่เพียงใดนั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 บรรทุกรถแทรกเตอร์ซึ่งมีใบมีดจานไถยาว 3.97 เมตรมาบนรถโดยรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 กว้างเพียง 2.50 เมตร ใบมีดจานไถของรถแทรกเตอร์ย่อมยื่นล้ำออกมานอกตัวรถบรรทุกของจำเลยที่ 1เมื่อถนนบริเวณที่เกิดเหตุกว้าง 6 เมตร แบ่งออกเป็นช่องเดินรถสำหรับแล่นสวนกันกว้างข้างละ 3 เมตร โดยมีเส้นประแบ่งครึ่งกลางถนนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า สามารถปรับใบมีดจานไถของรถแทรกเตอร์ให้มีส่วนของใบมีดจานไถยื่นออกมานอกตัวรถบรรทุกทางขวามือเพียง26 เซนติเมตร แม้จะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 สามารถปรับใบมีดจานไถให้เอียงไปทางขวาได้ 25 องศา และปรับแล้วความยาวของใบมีดจานไถจะเหลือเพียง 3.50 เมตร ตามภาพถ่ายหมาย ล.19 ความยาวของใบมีดจานไถก็ยังยาวกว่าความกว้างของรถบรรทุกของจำเลยที่ 1ประมาณ 1 เมตร ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1 เมตรนี้จะต้องยื่นล้ำเลยกระบะรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ออกมาทั้งสองข้างอยู่ดี เมื่อขับรถในเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 ผู้ขับรถต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 15 กฎกระทรวงและข้อกำหนดของกรมตำรวจที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวที่นายสมบูรณ์ วิสุทธิผล กรรมการของจำเลยที่ 1 และนายสนองผิวนวล พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า นายสมบูรณ์ได้ควบคุมการบรรทุกและได้ปรับใบมีดจานไถใช้โซ่มัดตัวรถแทรกเตอร์แล้วนำไฟดวงเล็กใส่กระป๋องน้ำมันสีเขียวติดไว้ที่ปลายใบมีดจานไถทั้งสองข้างนั้น จำเลยที่ 4 และนายมานะ คูสกุลรัตน์พยานจำเลยที่ 3 เบิกความยืนยันว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2ไม่ได้ติดไฟสัญญาณดังกล่าว ซึ่งความข้อนี้ได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทมนูญ สายพิมพ์ พยานคนกลาง ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนที่ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุเพียง 1 ชั่วโมงเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ไม่พบสายไฟสัญญาณในที่เกิดเหตุและที่ใบมีดจานไถก็ไม่มีโคมไฟติดไว้ ร้อยตำรวจโทมนูญกระทำการตามหน้าที่ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คำเบิกความของร้อยตำรวจโทมนูญจึงมีน้ำหนักอันควรรับฟัง เมื่อฟังประกอบคำเบิกความของจำเลยที่ 4 และนายมานะแล้วจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดไฟสัญญาณตามที่อ้างและเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 422 นอกจากนี้ปรากฏตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและแผนที่สังเขป แสดงสถานที่เกิดเหตุว่า บริเวณจุดชนอยู่ในช่องเดินรถโดยสารปรับอากาศ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำสืบให้รับฟังหักล้าง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกบรรทุกรถแทรกเตอร์มีใบมีดจานไถล้ำออกนอกตัวรถและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถโดยสาร จึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ด้วย หาใช่จำเลยที่ 4 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวไม่ สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหายนั้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไปเป็นค่ารักษาพยาบาล 110,147 บาท และค่าขาดเทียม 53,000 บาทคู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกา ส่วนค่าทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย17,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานทั้งปัจจุบันและอนาคต และค่าเสียหายอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์เรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444และ 446 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์กำหนดให้มีจำนวนต่ำไปยังไม่เหมาะสม จึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เสียความสามารถในการประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต 150,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงินเป็นเงิน160,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนของโจทก์รวมทั้งสิ้น490,147 บาท ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยไม่แยกความรับผิดเป็น 2 ฝ่ายหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเมื่อเกิดเหตุและจำเลยที่ 4 ห้ามล้อแล้ว รถโดยสารปรับอากาศที่จำเลยที่ 4 ขับยังคงมีความเร็ว 30 ถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอัตราความเร็วของรถก่อนที่จำเลยที่ 4 จะห้ามล้อต้องมากกว่าที่ห้ามล้อแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าจำเลยที่ 4ขับรถโดยสารปรับอากาศด้วยความเร็วสูงดังที่โจทก์เบิกความเมื่อจำเลยที่ 4 ขับรถโดยสารปรับอากาศในเวลากลางคืนและขับลงเนินซึ่งความเร็วของรถยนต์จะต้องเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันมีแสงไฟของรถยนต์ที่สวนมาเห็นได้ไกล จำเลยที่ 4 จะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นโดยลดความเร็วให้ช้าลง แต่จำเลยที่ 4ยังคงขับรถโดยสารปรับอากาศต่อไปด้วยความเร็วสูงจนเกิดอุบัติเหตุจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 เมื่อเป็นเหตุให้ชนกับบรรทุกรถแทรกเตอร์ที่จำเลยที่ 2 ขับมาโดยใบมีดจานไถของรถแทรกเตอร์ล้ำออกนอกตัวรถและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถโดยสารปรับอากาศและโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างฝ่ายต่างทำละเมิดโดยไม่ได้ร่วมกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละฝ่ายจึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ ทั้งนี้ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438ที่ศาลล่างทั้งสองแบ่งส่วนแห่งความรับผิดโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2รับผิด 2 ส่วน ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับผิด 1 ส่วน นับว่าถูกต้องและเหมาะสมแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมรับผิดเพิ่มขึ้นอีก 60,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ร่วมรับผิดเพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share