แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ พ.ศ.2486 นั้น เป็นเพียงระเบียบการทางพระวินัย ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 มาตรา 51 มิได้ บัญญัติให้ถือว่าระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ที่ออกตาม พ.ร.บ.เป็นกฎหมาย จึงย่อมถือได้เพียงว่า เป็นระเบียบการที่ออกตาม พ.ร.บ.เท่านั้น ฉะนั้นพระภิกษุในฐานะเป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ ย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษผู้ที่ทำร้ายบุตรของตนในทางอาญาได้ตาม ป.วิ.อาญา ม.5(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของ ด.ช.สวง ภู่ทอง เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๙๒ เวลาเช้ามืด จำเลยใช้มีดทำร้ายร่างกายเด็กชายสวง ภู่ทอง มีบาดเจ็บสาหัสทำให้รูปหน้าเสียโฉมติดตัวตลอดชีวิต ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๕๔ – ๒๕๒ ( ๖ )
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินัยอธิกรณ์มาตรา ๓ ซึ่งประกาศให้ใช้ตามสังฆาณัติให้ใช้ประมวลระเบียบวิธีวินิจฉัยอธิกรณ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้บัญญัติห้ามไว้มิให้พระภิกษุฟ้องความ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ที่กล่าวนี้ เป็นเพียงระเบียบการทางพระวินัย ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์การทางพระวินัย ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๑ ซึ่งตามมาตรานี้ มิได้บัญญัติให้ถือว่าระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ที่ออกตาม พ.ร.บ. เป็นกฎหมาย จึงย่อมถือไม่เพียงว่าประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ที่จำเลยอ้างขึ้นมานั้น เป็นเพียงระเบียบการที่ออกตาม พ.ร.บ.เท่านั้น นอกจากนี้การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ฟ้องในฐานะเป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ ย่อมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๕ (๑) ฏีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นให้ยกฎีกาเสีย