คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6692/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ จ. จะได้รับบาดเจ็บที่บริเวณดวงตาข้างซ้ายและลำตัวมีรอยฟกช้ำโดยสามารถไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้นและเหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหลังเวลาเลิกงานและนอกสถานที่ทำงานก็ตาม แต่สาเหตุที่โจทก์ทั้งสามกับ ภ. ร่วมกันทำร้าย จ. ก็เนื่องจากไม่พอใจ จ. เกี่ยวกับการทำงานและในที่ทำงาน หลังเลิกงานโจทก์ทั้งสามกับ ภ. ไปดักทำร้าย จ. ขณะลงจากรถรับส่งพนักงานของจำเลย อันมีลักษณะร่วมกันรุมทำร้าย จ. ฝ่ายเดียวและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันจากภายในที่ทำการของจำเลย ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ทั้งขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสาม ภ. และ จ. ยังคงสวมเครื่องแบบพนักงานของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกันทำร้ายร่างกาย จ. อย่างอุกอาจไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เป็นการกระทำต่อเพื่อนพนักงานด้วยกันในเรื่องที่มีสาเหตุจากการทำงานต่อหน้าเพื่อนพนักงานที่มากับรถรับส่งพนักงานของจำเลย อันเป็นการทำให้เสียภาพพจน์และทำให้ยุ่งยากในการปกครองบังคับบัญชาพนักงานในองค์กรของจำเลย การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 1 มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานเดิมโดยให้ได้รับค่าจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าเดิม ให้นับอายุงานต่อเนื่องจากเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง และชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ทั้งสามขาดรายได้เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์ทั้งสามได้รับนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์ที่ 1 กลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 16,470 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,209 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 57,096 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 9 นาฬิกา นางสาวจิราวรรณ ทำงานอยู่ที่บริษัทจำเลยมีเรื่องโต้เถียงกับนางสาวจิราภรณ์ พนักงานของจำเลยเกี่ยวกับการทำงาน ต่อมาเวลาประมาณ 16 นาฬิกา ขณะนางสาวจิราวรรณรูดบัตรออกจากงานก็ยังมีการพูดจาเสียดสีกัน หลังจากนั้นนางสาวจิราวรรณขึ้นรถรับส่งพนักงานของจำเลยกลับบ้าน และมีพนักงานกลุ่มหนึ่งเดินทางโดยรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ขณะที่นางสาวจิราวรรณลงจากรถรับส่งพนักงานบริเวณสี่แยกหินกอง มีพนักงาน 3 คน คือโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 และนางสาวจิราภรณ์เข้ามารุมทำร้ายกระชากผมจนล้มลง และช่วยกันเตะกระทืบแล้ววิ่งหนีขึ้นรถที่โจทก์ที่ 2 นั่งรออยู่ โดยโจทก์ทั้งสามร่วมกับนางสาวจิราภรณ์ทำร้ายร่างกายนางสาวจิราวรรณจนได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาข้างซ้ายและลำตัวมีรอยฟกช้ำดำเขียว แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสามถึงแม้จะเกิดนอกสถานที่ทำงาน แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากภายในบริษัทจำเลย ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน อีกทั้งยังเป็นความผิดอาญา กรณีจึงเป็นความผิดร้ายแรง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า แม้นางสาวจิราวรรณจะได้รับบาดเจ็บที่บริเวณดวงตาข้างซ้ายและลำตัวมีรอยฟกช้ำดำเขียวโดยสามารถไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น และเหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหลังเวลาเลิกงานและนอกสถานที่ทำงานก็ตาม แต่สาเหตุที่โจทก์ทั้งสามและนางสาวจิราภรณ์ร่วมกันรุมทำร้ายนางสาวจิราวรรณก็เนื่องจากไม่พอใจนางสาวจิราวรรณเกี่ยวกับการทำงาน นางสาวจิราภรณ์กับนางสาวจิราวรรณพูดจาเสียดสีโต้ตอบกันในระหว่างเวลาทำงานและในที่ทำงาน หลังจากเลิกงานแล้วโจทก์ทั้งสามและนางสาวจิราภรณ์ได้ร่วมกันไปดักทำร้ายร่างกายนางสาวจิราวรรณขณะกำลังลงจากรถรับส่งพนักงานของจำเลยบริเวณสี่แยกหินกอง โดยโจทก์ที่ 1 และนางสาวจิราภรณ์กระชากผมนางสาวจิราวรรณจนล้มลงแล้วช่วยกันเตะกระทืบ ส่วนโจทก์ที่ 3 ยืนคุมเชิงอยู่ แล้วพากันวิ่งขึ้นรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เพื่อหลบหนี อันมีลักษณะเป็นการรุมทำร้ายนางสาวจิราวรรณฝ่ายเดียว และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันจากภายในที่ทำการของจำเลย กรณีถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ทั้งข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า ขณะเกิดเหตุทำร้ายร่างกายนั้นโจทก์ทั้งสาม นางสาวจิราภรณ์และนางสาวจิราวรรณยังคงสวมเครื่องแบบพนักงานของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกันทำร้ายร่างกายนางสาวจิราวรรณอย่างอุกอาจไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เป็นการกระทำต่อเพื่อนพนักงานด้วยกันในเรื่องที่มีสาเหตุจากการทำงานต่อหน้าเพื่อนพนักงานที่มากับรถรับส่งพนักงานของจำเลย อันเป็นการทำให้เสียภาพพจน์และทำให้ยุ่งยากในการปกครองบังคับบัญชาพนักงานในองค์กรของจำเลย การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ 8 การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ข้อ 23.3 ก่อการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามด้วยเหตุดังกล่าวถือว่ามีเหตุอันสมควรและเพียงพอ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานตามเดิม ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share