คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมรดกต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยชอบธรรมได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ม. 1754
โจทก์เป็นสามีผู้ตายเจ้ามรดกเวลาเจ้ามรดกตายโจทก์ก็รู้และนับแต่วันตายมาถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้ว ทั้งมรดกที่พิพาทกันโจทก์ก็มิได้เป็นผู้ครอบครองร่วมกับจำเลย(มารดาผู้ตาย) เช่นนี้ โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ถูกปิดบังทรัพย์ โจทก์เพิ่งทราบว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอยู่เมื่อระยะภายใน 1 ปีนี้เอง อายุความตาม ม.1754 ไม่บังคับถึงนั้นไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดที่ ๒๗๗๓ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเป็นของนางเลื่อนภรรยาโจทก์มีกรรมสิทธิร่วมกับจำเลยที่ ๒ และน.ส.สอาด น.ส.เป้า นางทองสุข บัดนี้นางเลื่อนตายแล้วแบ่งเป็นมรดกของนางเลื่อนควรได้เนื้อที่ ๓๖ วา พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างคิดเป็นเงิน ๒๙,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดไว้ มิได้แบ่งให้โจทก์ ทั้งได้ปกปิดมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีทรัพย์นี้อยู่ โดยจำเลยสมคบกันไปยื่นคำร้องของรับมรดกของนางเลื่อนซึ่งโจทก์ไม่อาจทราบได้ ขอให้พิพากษาทำลายการโอนรับมรดกที่พิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของนางเลื่อนโดยให้โจทก์มีสิทธิรับมรดก
จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ได้ยกให้ใคร จำเลยมิได้ปิดบัง ทรัพย์พิพาทมีทะเบียนอันเป็นเอกสารมหาชนใคร ๆ ขอตรวจดูได้ อนึ่งการปิดบังมรดกจะยกขึ้นกล่าวหากันได้ก็เฉพาะเรื่องตัดสิทธิมรดกเท่านั้น ที่โจทก์ฟ้องหาใช่กรณีเช่นนี้ไม่ และตัดฟ้องว่าโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว นอกจากนี้จำเลยยังต่อสู้อื่น ๆ อีกหลายประการ
คู่ความแถลงรับกันว่าที่โจทก์จำเลยเคยแบ่งทรัพย์มรดกนางเลื่อนให้แก่โจทก์นั้นหาได้ทำสัญญาตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรไม่
ศาลแพ่งเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. ม.๑๗๕๔ แล้ว ฯลฯ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่โจทก์ว่าโจทก์ไม่รู้ว่านางเลื่อนมีชื่อถือกรรมสิทธิในที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้าง จำเลยจะยกเอาอายุความมรดก ๑ ปีขึ้นต่อสู้ตัดฟ้องโจทก์ไม่ได้นั้น เห็นว่าที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างโจทก์มิได้ครอบครองร่วมกับจำเลย โจทก์จึงต้องฟ้องคดีมรดกภายใน ๑ ปีนับแต่วันเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. ม.๑๗๕๔ เมื่อได้ความว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก (นางเลื่อน) นับมาถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน ๑ ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share