แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 คชก.จังหวัดได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การที่ช. ให้จำเลยที่ 2มีกรรมสิทธิ์รวมในนาพิพาทโดยมีค่าตอบแทนเป็นการชำระหนี้เงินยืมอย่างอื่นแทนเงิน ไม่เป็นการซื้อขายนาพิพาทโจทก์ได้ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดตั้งแต่วันที่21 พฤษภาคม 2535 ซึ่งตาม พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 57 วรรคหนึ่งบัญญัติให้คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดโจทก์จะต้องฟ้องคดีนี้ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2535 แต่วันที่ 20 มิถุนายน 2535 เป็นวันเสาร์ ศาลหยุดทำการดังนั้นโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2535ซึ่งเป็นวันจันทร์ศาลเปิดทำการวันแรกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 30 วัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แม้ฟ้องจะระบุข้อความซึ่งหมายความว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ฟ้องคดีด้วยตนเอง แต่โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง เมื่ออ่านรวมกันแล้วย่อมเข้าใจได้ดีแล้วว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2อีกฐานะหนึ่งด้วย หลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมข้อความในช่องคู่ความ เฉพาะโจทก์ที่ 2เป็นว่า “พ.โดยผ. ผู้รับมอบอำนาจที่ 2″และศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ยื่นคำให้การ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องแก้ฟ้องในเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเคลือบคลุมโดยตัดข้อความว่า “แสดงเจตนาลวงโดยสมยอม ซึ่งความจริงเป็นเรื่องซื้อขายกัน” ออก แล้วเพิ่มข้อความ”ทำนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายเพราะเจตนาจริง ๆเป็นเรื่องซื้อขาย หาใช่เป็นเรื่องให้ถือกรรมสิทธิ์รวมไม่”แทน และตัดข้อความ “ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลตามกฎหมาย” ออก แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ฟ้องโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับสำเนาคำร้องก่อนตามมาตรา 181 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งในคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็วินิจฉัยจากข้อความที่โจทก์ทั้งสองขอแก้ไข จำเลยที่ 1 และที่ 2ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องนี้ การแก้ไขคำฟ้องจึงชอบแล้ว คำฟ้องและข้อที่แก้ไขคำฟ้องเมื่อเข้าใจได้ว่า ฟ้องข้อ 4โจทก์ทั้งสองอ้างว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายส่วนฟ้องข้อ 5เป็นเรื่องที่ช. กับจำเลยที่ 2 แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่มีการเช่านา ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทั้งสองเช่าอยู่ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย คำฟ้องจึงมิได้มีข้อความขัดกันฟ้องโจทก์ทั้งสองได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพ แห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลัก แห่งข้อหาแล้ว มิได้เป็นฟ้องเคลือบคลุม คชก. ประจำจังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ 3 แม้จะไม่ใช่นิติบุคคลแต่โจทก์ทั้งสองก็ได้แก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 3ประกอบด้วย ท.ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเป็นประธานกรรมการ ส.อัยการจังหวัดนนทบุรีพ.เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ป. แทนเกษตรจังหวัดนนทบุรีส.ประมงจังหวัดนนทบุรีพ.ปศุสัตว์ จังหวัดนนทบุรีผู้แทนผู้เช่านาจังหวัดนนทบุรี 4 คน คือ สว.สจ. บก.และสม. กับผู้แทนผู้ให้เช่านาจังหวัดนนทบุรี 4 คน คือสส.พจ.สน.และผอ.โดยมีสต.จ่าจังหวัดนนทบุรีเป็นกรรมการและเลขานุการ แม้จะมิได้ระบุรายชื่อคณะกรรมการแต่ละคนในช่องคู่ความตามฟ้องโจทก์ทั้งสองก็พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการดังกล่าว คดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรีที่ไม่เห็นชอบตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล โจทก์ทั้งสองจึงต้องฟ้องคชก.จังหวัดนนทบุรีเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้เพื่อให้ คชก.จังหวัดนนทบุรีได้มี โอกาสเข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 พยานโจทก์เบิกความว่า เอกสารหมาย จ.6เป็นการซื้อขายนาพิพาทโดยเป็นวิธีการจดทะเบียนขายที่ดิน บางส่วน ที่ตอนท้ายของข้อ 3 ในเอกสารดังกล่าวระบุว่า ผู้ขายได้ที่ดินมาอย่างไรและผู้ซื้อจะนำนาพิพาทไปทำอะไรนั้น ก็ได้ความมาจากการสอบถามผู้รับมอบอำนาจของ ช. และจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าก่อนที่จะให้บุคคลทั้งสองลงลายมือชื่อในเอกสารได้สอบถามถึงการชำระเงินตามที่ระบุในเอกสารแล้วทั้งสองคนตอบว่าชำระกันเรียบร้อยแล้วจึงเห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองนำสืบถึงความหมายของเอกสารหมาย จ.6ไม่ใช่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94โจทก์ทั้งสองจึงนำสืบได้ สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลภายใน 30 วันตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เป็นสิทธิในการฟ้องคดีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องใช้สิทธิดังกล่าว ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งจะมีอายุความไม่ดังนั้น สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ฟ้องว่า ช. ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อน ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 และบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2โอนขายนาพิพาทให้โจทก์ เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตาม พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงช. ซึ่งเป็นผู้ขายด้วย อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างช. กับจำเลยที่ 2 ดังนั้นนิติกรรมระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 2 จึงยังมีผลสมบูรณ์โจทก์ไม่อาจขอให้บังคับช. ตามฟ้องได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของช. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในข้อ 2 ว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นการขายนาพิพาท แต่เป็นเสมือนการให้โดยเสน่หาตอบแทนความดีของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อ ช. ตลอดมาและให้การในข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลละหารที่ให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคา 1,100,000 บาทว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากโจทก์ทั้งสองจะบังคับซื้อคืนจะต้องซื้อตามราคาตลาดในขณะนั้นคือไร่ละ 1,500,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การในข้อ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสองว่า ช. มิได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 ส่วนคำให้การในข้อ 3 เป็นเรื่อง ราคานาพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อนั้น ก็เป็นการปฏิเสธราคานาพิพาทที่ คชก.ตำบลวินิจฉัยบังคับให้จำเลยที่ 2ขายนาพิพาทคืนให้โจทก์ทั้งสองว่าเป็นราคาที่ไม่ถูกต้องเพราะตามกฎหมายดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อคืนตามราคาตลาดในขณะนั้นคือ 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่ คชก.ตำบลเชื่อว่า ช. ขายให้จำเลยที่ 2ดังนั้น ราคานาพิพาทกับเรื่องที่ ช. ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ จึงเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกันเพราะเป็นการปฏิเสธตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงยกขึ้นต่อสู้ได้โดยไม่จำต้องรับว่า ช.ได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 ก่อน คำให้การของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาขัดแย้งกันไม่ พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนองจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก.ตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวันและถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธานคชก.ตำบลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผู้ให้เช่านาต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธี การชำระเงินที่ได้แจ้งไว้” และมาตรา 54 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนต่อไปยังผู้ใดผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวหมายความว่า เมื่อ ช. ผู้ให้เช่านาไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างใดก็ตาม โจทก์ทั้งสองผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาพิพาท จากจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนตามมาตรา 54 แต่จะต้องซื้อนาพิพาท คืนตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือ ตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะหมดสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้าน และไม่อาจยกมาตรา 54 ขึ้นอ้าง ดังนั้น ศาลชอบ ที่จะให้โจทก์ทั้งสองซื้อนาพิพาทคืนตามราคาตลาดในขณะนั้นได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การเกี่ยวกับราคาตลาดของ นาพิพาทว่ามีราคา 30,000,000 บาท เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างราคาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54เพื่อปฏิเสธราคานาพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะซื้อคืนว่าโจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อในราคาตลาดในขณะนั้น เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าจำนวนเงิน 30,000,000 บาทนี้ มิได้ เป็นทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำต้องฟ้องแย้งและเสียค่าขึ้นศาล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของนายเชื้อ เคลื่อนคล้อยผู้ตาย จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524ประกอบด้วยคณะกรรมการรวม 15 คน มีนายทวีป ทวีพาณิชย์ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเป็นประธานกรรมการ เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1589 เนื้อที่ 40 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของนายเชื้อ โจทก์ทั้งสองได้เช่าทำนาตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 46 ปี โดยไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2534 นายเชื้อได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 20 ไร่โดยจำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทนให้แก่นายเชื้อเป็นเงิน1,100,000 บาท การทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นการสมรู้กันทำนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขาย เพราะเจตนาจริง ๆ เป็นเรื่องซื้อขายการที่นายเชื้อขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบก่อนเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 28 และ 54 โจทก์ทั้งสองได้ร้องขอต่อ คชก.ตำบลละหาร ขอให้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ขายนาพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองและเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างนายเชื่อกับจำเลยที่ 2 คชก. ตำบลละหารมีคำวินิจฉัยครั้งที่ 3/2537 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2534ให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคา1,100,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ว่าคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลละหารดังกล่าวไม่ชอบ จำเลยที่ 3มีคำวินิจฉัยว่ามิได้เป็นการซื้อขายและแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2535 โจทก์ทั้งสองเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 และพิพากษาว่าการทำนิติกรรมระหว่างนายเชื้อกับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนนาพิพาทเนื้อที่ 20 ไร่ ให้โจทก์ทั้งสองพร้อมรับเงินจำนวน 1,100,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะดูแลนายเชื้อ เคลื่อนคล้อย ในขณะเจ็บป่วยตลอดมา นายเชื้อต้องการที่จะตอบแทนความดีของจำเลยที่ 2 จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามฟ้อง บันทึกดังกล่าวถือเสมือนว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระด้วยเงินตามสัญญายืมและอาจถือเสมือนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่ใช่เป็นการซื้อขายนาพิพาท เพราะนายเชื้อมีเจตนาเพียงให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับทายาทอื่นเท่านั้นไม่ได้มีการส่งมอบทรัพย์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นการระบุเจาะจงทรัพย์ส่วนใดเป็นของจำเลยที่ 2 โดยแน่นอน นอกจากนี้คำวินิจฉัยของคชก.ตำบลละหารที่ให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2ในราคา 1,100,000 บาท ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิใด ๆ จะบังคับซื้อนาพิพาทคืนในราคา 1,100,000 บาท หากโจทก์ทั้งสองจะซื้อนาพิพาทคืนต้องซื้อตามราคาตลาดในขณะที่มีการซื้อขายกันซึ่งราคาตลาดเมื่อปี 2534 ราคาไร่ละ1,500,000 บาท นาพิพาทมีเนื้อที่จำนวน 20 ไร่ การฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและฟ้องเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1589เฉพาะส่วนนาพิพาทของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทั้งสองและรับชำระค่าที่ดินเป็นเงิน 28,000,000 บาท จากโจทก์ทั้งสองในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนมติจำเลยที่ 3เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 และให้จำเลยที่ 2 โอนขายนาพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 1589 เฉพาะส่วนที่นายเชื้อให้จำเลยที่ 2ถือกรรมสิทธิ์รวมเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ให้โจทก์ทั้งสองในราคา10,000,000 บาท โดยให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1589 เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของนายเชื้อ เคลื่อนคล้อย โจทก์ทั้งสองเช่าที่ดินดังกล่าวทำนาตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 46 ปี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2534นายเชื้อจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย จ.6 โดยนายเชื้อมิได้ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบก่อน โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นการซื้อขายได้ยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบลละหารขอใช้สิทธิซื้อนาพิพาทคืนคชก.ตำบลละหาร วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคาตามสัญญาซื้อขายรวมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1และที่ 2 อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลละหารต่อ คชก.จังหวัดนนทบุรีจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 วินิจฉัยว่านายเชื้อไม่ได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.7
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากฟ้องเกิน30 วัน นับจากทราบคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 และโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 คชก.จังหวัดนนทบุรีได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการที่นายเชื้อให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์รวมในนาพิพาทโดยมีค่าตอบแทนเป็นการชำระหนี้เงินยืมอย่างอื่นแทนเงิน ไม่เป็นการซื้อขายนาพิพาท เกี่ยวกับเรื่องนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรีตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2535 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด โจทก์ทั้งสองจะต้องฟ้องคดีนี้ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2535 แต่วันที่ 20 มิถุนายน 2535เป็นวันเสาร์ ศาลหยุดทำการ ดังนั้น โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2535 ซึ่งเป็นวันจันทร์ ศาลเปิดทำการวันแรกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 30 วัน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนปัญหาว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 1และที่ 2 อ้างว่า โจทก์ทั้งสองให้บุตรชายบุตรสาวและบุตรเขยปลูกบ้านอยู่อาศัยในนาที่เช่ามีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และโจทก์ทั้งสองมิได้มีเจตนาจะทำนาในที่เช่าต่อไป หากชนะคดีจะแบ่งนาพิพาทนำไปขายเอากำไร และโจทก์ทั้งสองร้องต่อคชก.ตำบลละหาร โดยคำแนะนำของกรรมการ คชก.ตำบลละหารบางคน เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองใช้นาพิพาทเป็นที่ปลูกบ้านเพียงประมาณ 2 ไร่ จากเนื้อที่นาที่เช่าทั้งหมดประมาณ40 ไร่ เนื้อที่นาที่เหลือส่วนใหญ่คงใช้ทำนาจึงเป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งสองจะทำได้ซึ่งก็ตรงกับความหมายของคำว่า “นา”ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 ที่บัญญัติว่า “นา” หมายความว่าที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหากชนะคดีแล้วโจทก์ทั้งสองกับพวกจะขายนาพิพาทนั้น ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ตามที่จำเลยทั้งสองที่ 1และที่ 2 อ้างแต่อย่างใด และที่อ้างว่ากรรมการ คชก.ตำบลละหารบางคนแนะนำให้โจทก์ทั้งสองไปยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบลละหารนั้นแม้โจทก์ที่ 1 จะเบิกความรับในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เป็นคำแนะนำที่ไม่ชอบแต่อย่างใดการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาอ้างว่า โจทก์ทั้งสองระบุในช่องคู่ความว่า “นางผ่อง ทองสุกที่ 1 นายพร้อมหรือจำปา ทองสุก ที่ 2 โจทก์” แต่บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ให้ฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เข้าใจว่าโจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีเองหรืออย่างไร เห็นว่าแม้ฟ้องจะระบุข้อความดังกล่าวซึ่งหมายความว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องคดีด้วยตนเองแต่โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง เมื่ออ่านรวมกันแล้วย่อมเข้าใจได้ดีแล้วว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2อีกฐานะหนึ่งด้วย แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลงวันที่ 22 กันยายน 2535 เพิ่มเติมข้อความในช่องคู่ความดังกล่าว เฉพาะโจทก์ที่ 2 เป็นว่า “นายพร้อมหรือจำปา ทองสุกโดยนางผ่อง ทองสุก ผู้รับมอบอำนาจที่ 2” และศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างประการต่อมาว่าโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องในข้อ 4 ว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเป็นการสมรู้ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นการแสดงเจตนาลวงความจริงเป็นเรื่องซื้อขาย แต่บรรยายฟ้องในข้อ 5 ว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเป็นโมฆะจึงขัดกัน ทั้งมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าเป็นการสมรู้และแสดงเจตนาลวง เห็นว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ยื่นคำให้การ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลงวันที่ 19 ตุลาคม 2535 แก้ฟ้องในเรื่องที่จำเลยที่ 1และที่ 2 อ้างว่าเคลือบคลุม โดยตัดข้อความว่า “แสดงเจตนาลวงโดยสมยอม ซึ่งความจริงเป็นเรื่องซื้อขายกัน” ออกแล้วเพิ่มข้อความ “ทำนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายเพราะเจตนาจริง ๆเป็นเรื่องซื้อขาย หาใช่เป็นเรื่องให้ถือกรรมสิทธิ์รวมไม่” แทน และตัดข้อความ “ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลตามกฎหมาย”ออก แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ฟ้องโดยจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ได้รับสำเนาคำร้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 แต่จำเลยที่ 1และที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งในคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็วินิจฉัยจากข้อความที่โจทก์ทั้งสองขอแก้ไข แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องนี้ การแก้ไขคำฟ้องจึงชอบแล้วและเมื่อพิจารณาคำฟ้องและข้อที่แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวเข้าใจได้ว่าฟ้องข้อ 4 โจทก์ทั้งสองอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขาย ส่วนฟ้องข้อ 5 เป็นเรื่องที่นายเชื้อกับจำเลยที่ 2 แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีสาขาบางใหญ่ ว่าไม่มีการเช่านา ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทั้งสองเช่าอยู่ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย คำฟ้องจึงมิได้มีข้อความขัดกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสองได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วมิได้เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่าคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดนนทบุรีแม้จะไม่ใช่นิติบุคคล แต่โจทก์ทั้งสองก็ได้แก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ประกอบด้วยนายทวีป ทวีพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเป็นประธานกรรมการ นายเสริมเกียรติ วรดิษฐ์อัยการจังหวัดนนทบุรี นายพจน์ สุขมหา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี นายปริญญา หรูวรรธนะ แทนเกษตรจังหวัดนนทบุรีนายสุเมธ ตันติกุล ประมงจังหวัดนนทบุรี นายพูนเกียรติ ปิยพันธ์ปศุสัตว์จังหวัดนนทบุรี ผู้แทนผู้เช่านาจังหวัดนนทบุรี 4 คน คือนายไสว มานะกิจ นายสมจิตร จันทร์แตน นายนบากา หมัดซาและนายไสว เหมือนสิน กับผู้แทนผู้ให้เช่านาจังหวัดนนทบุรี4 คน คือ นางสนทยา เมื่อมาก นางสาวเพียงจันทร์ คล้ายสำเนียงนางสาวสำเนา สุขโต และนายผาด อ่อนฉ่ำ โดยมีนายสันติ สมนึก จ่าจังหวัดนนทบุรี เป็นกรรมการและเลขานุการแม้จะมิได้ระบุรายชื่อคณะกรรมการแต่ละคนในช่องคู่ความตามฟ้องโจทก์ทั้งสองก็พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการดังกล่าว คดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรีที่ไม่เห็นชอบตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล โจทก์ทั้งสองจึงต้องฟ้อง คชก.จังหวัดนนทบุรีเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้เพื่อให้ คชก.จังหวัดนนทบุรีได้มีโอกาสเข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการต่อไปว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นเรื่องที่นายเชื้อขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยเท็จจริงฟังได้ว่านายเชื้อขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยจดทะเบียนประเภทบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่าสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลภายใน 30 วันตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาอ้างว่าระยะเวลา 30 วัน ที่ให้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลเป็นอายุความนั้นเห็นว่า สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลภายใน30 วัน ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เป็นสิทธิในการฟ้องคดีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องใช้สิทธิดังกล่าว ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งจะมีอายุความดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ ดังนั้น สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรีต่อศาลภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่านายเชื้อขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบก่อนขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3และบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายนาพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า”ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนต่อไปยังผู้ใด ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้น”ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิบังคับซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงนายเชื้อซึ่งเป็นผู้ขายด้วย อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างนายเชื้อกับจำเลยที่ 2 ดังนั้น นิติกรรมระหว่างนายเชื้อกับจำเลยที่ 2 จึงยังมีผลสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองไม่อาจขอให้บังคับนายเชื้อตามฟ้องได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นทายาทของนายเชื้อ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกปฏิเสธว่า นายเชื้อไม่ได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 แต่ตอนหลังให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2หากจะซื้อก็ต้องซื้อในราคาตลาดขณะที่นายเชื้อโอนให้จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 จะยกขึ้นอ้างได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าซื้อนาพิพาทจากนายเชื้อจริงเท่านั้นคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขัดแย้งกัน ไม่ชัดแจ้งว่านายเชื้อจะได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ จึงไม่มีประเด็นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในข้อ 2 ว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมระหว่างนายเชื้อกับจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นการขายนาพิพาท แต่เป็นเสมือนการให้โดยเสน่หาตอบแทนความคดีของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อนายเชื้อตลอดมา และให้การในข้อ 3 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ปฏิเสธคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลละหารที่ให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคา 1,100,000 บาทว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากโจทก์ทั้งสองจะบังคับซื้อคืนจะต้องซื้อตามราคาตลาดในขณะนั้นคือไร่ละ 1,500,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 54 จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การในข้อ 2จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสองว่านายเชื้อมิได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 ส่วนคำให้การในข้อ 3 เป็นเรื่องราคานาพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อนั้นก็เป็นการปฏิเสธราคานาพิพาทที่ คชก.ตำบลละหารวินิจฉัยบังคับให้จำเลยที่ 2ขายนาพิพาทคืนให้โจทก์ทั้งสองว่าเป็นราคาที่ไม่ถูกต้องเพราะตามกฎหมายดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อคืนตามราคาตลาดในขณะนั้นคือ 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่ คชก.ตำบลละหารเชื่อว่านายเชื้อขายให้จำเลยที่ 2 ดังนั้น ราคานาพิพาทกับเรื่องที่นายเชื้อขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 หรือไม่จึงเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกันเพราะเป็นการปฏิเสธตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยกขึ้นต่อสู้ได้โดยไม่จำต้องรับว่านายเชื้อได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 ก่อนคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ขัดแย้งกัน และเป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปว่าการที่นายเชื้อไม่ปฏิบัติตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 แล้วจะหมดสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านและไม่อาจยกมาตรา 54 ขึ้นมาอ้างเพื่อบังคับโจทก์ทั้งสองซื้อนาพิพาทตามราคาตลาดขณะที่นายเชื้อโอนให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก.ตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวัน และถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก.ตำบลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผู้ให้เช่านาต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งไว้” และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนต่อไปยังผู้ใดผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน” จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวหมายความว่าเมื่อนายเชื้อผู้ให้เช่านาไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างใดก็ตาม โจทก์ทั้งสองผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนตามมาตรา 54 แต่จะต้องซื้อนาพิพาทคืนตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้นแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2จะหมดสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านและไม่อาจยกมาตรา 54 ขึ้นอ้างตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022/2522 ที่โจทก์ทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ดังนั้น ศาลชอบที่จะให้โจทก์ทั้งสองซื้อนาพิพาทคืนตามราคาตลาดในขณะนั้นได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1และที่ 2 ว่า โจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อนาพิพาทคืนในราคาเท่าใดข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายเชื้อขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2โดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบเพื่อใช้สิทธิซื้อก่อนโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ที่จะซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ตามราคาและวิธีการชำระเงินที่จำเลยที่ 2 ซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้นแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน โจทก์ทั้งสองฟ้องขอซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคา 1,100,000 บาทตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน)เอกสารหมาย จ.6 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่านาพิพาทราคาตลาดในขณะมีการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมมีราคา 30,000,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า นาพิพาทอยู่ในเขตปริมณฑลกรุงเทพมหานคร และมีการทำถนนในนาพิพาทแสดงว่ารถยนต์สามารถเข้าถึงนาพิพาทได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่าในขณะที่นายเชื้อขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 นาพิพาทมีราคาตลาดประมาณไร่ละ 500,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาในข้อต่อไปว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฟ้องแย้งว่าที่นาพิพาทมีราคา30,000,000 บาท และไม่ได้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมเป็นค่าขึ้นศาลศาลล่างทั้งสองจะมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้หรือไม่เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกี่ยวกับราคาตลาดของนาพิพาทในขณะนั้นว่ามีราคา 30,000,000 บาท เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างราคาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54 เพื่อปฏิเสธราคานาพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะซื้อคืนว่า โจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อในราคาตลาดในขณะนั้น เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าในบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ตามเอกสารหมาย จ.6 ดังนั้น จำนวนเงิน30,000,000 บาท จึงมิได้เป็นทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2เรียกร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำต้องฟ้องแย้งและเสียค่าขึ้นศาล
โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งสองต่ำไป เห็นว่า ข้อนี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่กำหนดเวลาชำระราคาไว้นั้นศาลฎีกาเห็นว่าไม่สมบูรณ์ ศาลฎีกาสมควรแก้ไขโดยกำหนดเวลาให้โจทก์ทั้งสองชำระราคาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสองชำระราคาที่จะขอซื้อคืนภายใน 60 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา มิฉะนั้นให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจขอซื้อคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2