แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุเกิดในขณะใช้กฎหมายลักษณะอาญา จำเลยทั้ง 4 คน สมคบกันลักของใช้สำหรับราชการ และลักในเวลาค่ำคืน แต่ประมวลกฎหมายอาญา ม.335 มิได้บัญญัติว่าการลักของใช้ในราชการเป็นเหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. 294 (4) ไม่ได้ (เทียบฎีกาที่ 535/2500)
แต่ว่าโดยที่การกระทำของจำเลยยังเป็นเหตุฉกรรจ์ ของการลักทรัพย์อยู่อีก 2ประการคือ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งประมวลกฎหมาย ม. 335 ยังบัญญัติไว้ให้เป็นเหตุฉกรรจ์อยู่ในอนุมาตรา (1) และ (7) ซึ่งตรงกับกฎหมายลักษณะอาญา ม.293(1) และ (11) และโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. 293 เบากว่าโทษในประมวลกฎหมายอาญา ม.335 เช่นนี้ ต้องวางบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. 293 (1) และ (11)
ขณะนี้ผลแห่งการตรวจสอบด้วยเครื่องจับเท็จ ยังมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่ศาลยุติธรรมจะรับฟังเป็นยุติ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่า จำเลยลักทรัพย์ (จักรเย็บผ้า ๒ คัน) ในเวลาค่ำคืน โดยมีพรรคพวกตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป และลักของ (จักรที่ใช้ในราชการทหาร ๑ คัน) ที่จะใช้สำหรับราชการหรือที่จะใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์
เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ เวลากลางคืน โจทก์อ้างกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๒๘๘, ๒๙๓, ๒๙๔
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้ง ๔ เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอายา ม. ๒๙๔ อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำผิด และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มล ๓๓๕ อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง ๔ ไว้ตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๒๙๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีกำหนดโทษเบาเป็นคุณแก่จำเลย โดยวางโทษจำคุกจำเลยทั้ง ๔ คนไว้คนละ ๓ ปี แต่สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่คำรับชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๗๘เสีย ๑ ใน ๓ คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และ ๒ คนละ ๒ ปี กับให้จำเลยทั้ง ๔ ช่วยกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามิได้บัญญัติความผิดฐานลักทรัพย์ที่จะใช้สำหรับราชการไว้ เพราะฉะนั้น จะลงโทษจำเลยในฐานลักทรัพย์ที่จะใช้สำหรับราชการตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๒๘๔ (๔) ไม่ได้ คดีจึงต้องบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๒๙๓(๑), (๑๑) พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ปรับบทลงโทษและลดโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๒๙๓(๑) , (๑๑) และม. ๕๙ ส่วนกำหนดโทษอื่น ๆ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า ควรลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๒๙๔ ตามศาลชั้นต้น และจำเลยทั้ง ๔ ฎีกาด้วย
ศาลฎีกาพิจารณา เห็นว่า เมื่อประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๓๕ มิได้บัญญัติไว้ว่า การลักของที่ใช้ในราชการเป็นเหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์ ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ยังเป็นความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ แต่กฎหมายใหม่ (คือประมวลกฎหมายอาญา) มิให้เป็นเหตุฉกรรจ์ต่อไป เทียบได้ตามฎีกาที่ ๕๓๕/๒๕๐๐ การที่จำเลยลักจักรเย็บผ้าอันเป็นของใช้สำหรับราชการในคดีนี้ไม่เป็นเหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์ตามกฎหมายใหม่ เมื่อเช่นนี้ ก็จะลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๒๙๙ มิได้ แต่โดยที่การกระทำของจำเลยยังเป็นเหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์อยู่อีก ๒ ประการ คือลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่สองคนขึ้นไป และเหตุฉกรรจ์นี้ ประมวลกฎหมายอาญา ม. ๓๓๕ ยังบัญญัติไว้ให้เป็นเหตุฉกรรจ์อยู่ตามอนุ มาตรา (๑) และ (๗) ซึ่งตรงกับกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๒๙๓(๑) และ (๑๑) และโทษตามบทมาตราดังกล่าวหลังนี้ เบากว่าโทษในประมวลกฎหมายอาญา ม. ๓๓๕ จึงต้องวางบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๒๙๓ (๑) และ (๑๑) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา
ที่จำเลยฎีกาว่า ผลเครื่องจับเท็จตามรายงานมิใช่เป็นพยานที่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์รับฟังรายงานที่ได้รับจากเครื่องจับเท็จมาลงโทษจำเลยจึงคลาดเคลื่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จริงอยู่ ขณะนี้ผลแห่งการตรวจสอบด้วยเครื่องจับเท็จยังมิใช่ฟังผลแห่งการตรวจสอบด้วยเครื่องจับเท็จดั่งกล่าว แต่ฟังคำรับของจำเลยที่ ๔ ที่รับต่อพนักงานตำรวจผู้ทำการทดสอบจำเลยด้วยเครื่องจับเท็จมาประกอบการพิจารณา จึงเป็นคนละเรื่องกับข้อโต้แย้งของจำเลยในฎีกา
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์