คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าโจทก์สละมรดกและอ้างสัญญาประนีประนอมยอมความคดีมีประเด็นว่าโจทก์ทำบันทึกสละมรดกให้ผู้จัดการมรดกไว้จริงหรือไม่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่าโจทก์ตกลงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อให้เอาไปจำนองแก่ธนาคารเอาเงินมาทำศพบิดาและจำเลยรับจะเลี้ยงมารดาและทำศพมารดาให้ด้วยจึงเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุของการทำเอกสารดังกล่าวและนำสืบถึงความเป็นมาของเอกสารย่อมไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นหรือนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร เอกสารมีใจความว่าโจทก์และส. ทายาทโดยธรรมล.ยินยอมให้ผู้จัดการมรดกแบ่งสรรที่ดินมรดกแปลงพิพาทให้แก่ทายาทคนใดก็ได้โดยโจทก์และส. ไม่ขอรับและไม่คัดค้านแต่ประการใดทั้งสิ้นโจทก์ส. และบ. ได้ลงชื่อไว้ต่อหน้าพยานดังนี้เมื่อปรากฏว่านอกจากที่ดินดังกล่าวแล้วยังมีบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่งด้วยเอกสารทั้งสองฉบับกล่าวถึงที่ดินแต่ไม่กล่าวถึงบ้านด้วยจึงเป็นการสละสิทธิบางส่วนถือว่าเป็นการสละมรดกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1613อย่างไรก็ตามข้อความตามเอกสารฉบับนี้เป็นกรณีที่โจทก์และส. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของล. แสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อระงับข้อพิพาทว่าโจทก์และส. ไม่ขอรับและไม่คัดค้านที่บ. ผู้จัดการมรดกจะแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทคนใดก็ได้แม้จะทำไว้แก่บ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแต่บ. ก็เป็นภรรยาล. จึงมีฐานะเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกล.ด้วยและส. ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมเป็นผู้มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทการที่โจทก์ส. และบ.ทำเอกสารดังกล่าวไว้นั้นแสดงถึงเจตนาของโจทก์ที่จะไม่รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินพิพาทและยอมให้ผู้จัดการมรดกแบ่งให้ทายาทคนใดก็ได้จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์ส. และบ. ผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1750แม้จำเลยไม่ได้ลงชื่อด้วยสัญญาดังกล่าวก็ไม่เสียไปและมีผลผูกพันโจทก์ผู้ต้องรับผิดที่ลงชื่อในสัญญาไว้ให้ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวดังนั้นการที่บ. ผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่แบ่งให้โจทก์ก็เป็นไปตามเจตนาของโจทก์ตามเอกสารสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงเป็นการโอนโดยชอบแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าแต่ในส่วนบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่งนั้นโจทก์มิได้สละสิทธิด้วยโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยแบ่งให้โจทก์ได้ตามส่วน หลังจากล. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบ. เป็นผู้จัดการมรดกถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา1748โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกคือบ้านพิพาทได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ 1 นายสำเริงและนายจำรัส บิดาจำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายลบและนางสายบัวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2528 นายลบถึงแก่กรรมและมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5172 เนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 78 7/8 ตารางวาราคาไร่ละ 25,000 บาท กับบ้าน 1 หลัง ราคา 50,000 บาททรัพย์มรดกดังกล่าวนางสายบัวในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนให้แก่จำเลยทั้งสองโดยไม่แบ่งปันให้โจทก์ทั้งห้าตามกฎหมายในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งมีส่วนได้รับคนละ 3 ไร่ 2 งาน 42 1/5 ตารางวารวมราคาบ้านแล้วเป็นเงินคนละ 95,694 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละ 1 ใน 9 ส่วนหากจำเลยทั้งสองไม่จัดการโอนให้ร่วมกันชำระราคาแก่โจทก์ทั้งห้าคนละ 95,694 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 478,472 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะนางสายบัว ผู้จัดการมรดกได้โอนทรัพย์มรดกตามฟ้องของนายลบให้แก่จำเลยทั้งสองโดยชอบด้วยความยินยอมของโจทก์ทั้งห้าทั้งโจทก์ทั้งห้าได้แสดงเจตนาสละสิทธิในการรับมรดกด้วยคดีโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความ เพราะฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลตามลำพัง ฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องมาในคดีเดียวกันก็ต้องพิจารณาทุนทรัพย์ของคดีสำหรับโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อปรากฏว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องไม่เกินสองแสนบาท โจทก์แต่ละคนจึงฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งห้าจะนำเอาทุนทรัพย์ของแต่ละคนมารวมกันเพื่อใช้สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหาได้ไม่ คงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงโจทก์ทั้งห้าและนายสำเริงเป็นบุตรของนายลบและนางสายบัวนายลบถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2528 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5172 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมบ้าน 1 หลัง โดยนางสายบัวเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมานายสายบัวในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งห้ามาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทโดยธรรมของนายลบ แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งให้อ้างว่าโจทก์ทั้งห้าได้สละมรดกแล้วตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 โจทก์ทั้งห้าอ้างว่าได้ลงชื่อเอกสารดังกล่าวจริงแต่ลงชื่อไว้เพื่อให้นางสายบัวมารดานำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารเพื่อนำเงินมาจัดงานศพนายลบบิดาเท่านั้น
ที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่า จำเลยทั้งสองให้การอ้างว่าโจทก์ทั้งห้าสละมรดกและอ้างสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 จึงมีประเด็นเพียงว่า โจทก์ทั้งห้าทำบันทึกสละมรดกให้ผู้จัดการมรดกไว้จริงหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองนำสืบพยานบุคคลว่าโจทก์ทั้งห้าตกลงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1เพื่อให้เอาไปจำนองแก่ธนาคารเอาเงินมาทำศพบิดา และจำเลยที่ 1รับจะเลี้ยงมารดาและทำศพมารดาให้ด้วย เป็นการนำสืบนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การและเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาวินิจฉัยไม่ได้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองต้องแพ้คดีไปตามภาระการพิสูจน์ที่ตกแก่จำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการนำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุของการทำเอกสารดังกล่าว และนำสืบถึงความเป็นมาของเอกสารย่อมไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นหรือนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงนำสืบได้และศาลมีอำนาจนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้
ที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่า เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ไม่เป็นการสละมรดกเพราะไม่ได้มอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และฝ่ายจำเลยมิได้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวด้วย ย่อมไม่มีผลเป็นการสละมรดกนั้น เห็นว่า เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวซึ่งมีใจความว่าโจทก์ทั้งห้าและนายสำเริงทายาทโดยธรรมของนายลบยินยอมให้ผู้จัดการมรดกแบ่งสรรที่ดินมรดกแปลงพิพาทให้แก่ทายาทคนใดก็ได้ โดยโจทก์ทั้งห้าและนายสำเริงไม่ขอรับและไม่คัดค้านแต่ประการใดทั้งสิ้นโจทก์ทั้งห้านายสำเริงและนางสายบัวได้ลงชื่อไว้ต่อหน้าพยานดังนี้ เมื่อปรากฏว่านอกจากที่ดินดังกล่าวแล้วยังมีบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่งด้วย เอกสารทั้งสองฉบับกล่าวถึงที่ดินแต่ไม่กล่าวถึงบ้านด้วยจึงเป็นการสละสิทธิบางส่วน ถือว่าเป็นการสละมรดกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1613อย่างไรก็ตามข้อความตามเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งห้าและนายสำเริงซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายลบแสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาท เพื่อระงับข้อพิพาทว่าโจทก์ทั้งห้าและนายสำเริงไม่ขอรับและไม่คัดค้านที่นาง สายบัวผู้จัดการมรดกจะแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทคนใดก็ได้ แม้จะทำไว้แก่นางสายบัวซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก แต่นางสายบัวก็เป็นภรรยานายลบจึงมีฐานะเป็นทายาท มีสิทธิได้รับมรดกนายลบด้วย และนางสายบัวในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมเป็นผู้มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท การที่โจทก์ทั้งห้านายสำเริงและนางสายบัวทำเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ไว้นั้น แสดงถึงเจตนาของโจทก์ทั้งห้าที่จะไม่รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินพิพาทและยอมให้ผู้จัดการมรดกแบ่งให้ทายาทคนใดก็ได้ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์ทั้งห้า นายสำเริง และนางสายบัวผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงชื่อด้วย สัญญาดังกล่าวก็ไม่เสียไปและมีผลผูกพันโจทก์ทั้งห้า ผู้ต้องรับผิดที่ลงชื่อในสัญญาไว้ให้ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ดังนั้นการที่นาง สายบัวผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองโดยไม่แบ่งให้โจทก์ก็เป็นไปตามเจตนาของโจทก์ทั้งห้าตามสัญญาเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4จึงเป็นการโอนโดยชอบแล้ว โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้า แต่ในส่วนบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่งนั้น โจทก์ทั้งห้ามิได้สละสิทธิด้วยโจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งให้โจทก์ทั้งห้าคนละ 1 ใน 9 ส่วน ตามฟ้อง
ที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คู่ความได้นำสืบมาในชั้นพิจารณาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากนายลบเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสายบัวเป็นผู้จัดการมรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งห้าด้วยโจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกคือบ้านพิพาทได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 แล้วก็ดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งบ้านพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าคนละ 1 ใน 9 ส่วน หากแบ่งโอนให้ไม่ได้ให้ขายบ้านพิพาทแล้วนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทตามส่วนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share