คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ส. ฟ้องคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องมีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. มอบอำนาจให้ส. มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองในเรื่องเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้กำหนดค่าทดแทนให้ คำฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของช. โจทก์หาได้ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวไม่ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(6) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้นหมายถึง บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางผ่านที่ดินแปลงอื่นไปสู่ทางสาธารณะ เพราะที่ดินของบุคคลนั้นมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะหรือที่เรียกว่าทางจำเป็น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349และเฉพาะกรณีที่บุคคลผู้เสียสิทธิการใช้ทางได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ซึ่งได้ถูกเวนคืนเท่านั้นมิได้หมายความถึงบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387ถึงมาตรา 1401 แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้ที่ดินของ ช.จะถูกเวนคืนเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองเสียสิทธิ ในการใช้ทางภารจำยอมในที่ดินดังกล่าว ไม่ว่า จำเลยทั้งสองจะได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้ทาง ภารจำยอม นั้นหรือไม่ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 30464 ที่ถูกเวนคืนและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนำไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จำนวน12,250,000 บาท เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเงินค่าทดแทนดังกล่าว และห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสองรับเงินค่าทดแทนและดอกเบี้ย ให้เจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมซึ่งนายเซ็นได้จดทะเบียนทางภารจำยอมให้แก่นางทำเนียบและนายเสรี สืบสงวน ถูกต้องตามกฎหมายโดยได้รับค่าตอบแทน สิทธิในภารจำยอมจึงติดไปกับสามยทรัพย์และตกทอดแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินสามยทรัพย์ดังกล่าวโดยชำระค่าตอบแทนทางภารจำยอมให้แก่นางทำเนียบและนายเสรี สืบสงวน ซึ่งนายเซ็นทราบแล้วไม่คัดค้านดังนี้ เมื่อทางภารจำยอมถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองจึงย่อมได้รับเงินค่าทดแทนเป็นค่าตอบแทนเทียบเท่าเจ้าของภารยทรัพย์หรือครึ่งหนึ่งตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 30464ตำบลคลองตัน (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร จำนวน 12,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดตกได้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเซ็น หวังดุลหรือหวังคุณ ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการส่วนตัวหรือฟ้องในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของนายเซ็น หวังดุล นั้นเห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 2 บรรยายว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสุนีย์ เพ็ญพันธ์ ฟ้องคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องหมายเลข 2 และตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องมีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเซ็น หวังดุล มอบอำนาจให้นางสุนีย์ เพ็ญพันธ์ มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองในเรื่องเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 30464 ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้กำหนดค่าทดแทนให้ คำฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของนายเซ็น หวังดุล โจทก์หาได้ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวไม่ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองเสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดที่ 30464 ซึ่งถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ สายรามอินทรา – อาจณรงค์ โดยจำเลยทั้งสองได้รับค่าทดแทนในการใช้ทางภารจำยอมแล้ว จึงชอบที่จะได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(6) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทน นั้น ให้กำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ ฯลฯ
(6) บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำสายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นตามมาตรา 1349 หรือมาตรา 1352 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในกรณีที่บุคคลเช่นว่านั้นได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนแล้ว” เห็นว่าบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางผ่านที่ดินแปลงอื่นไปสู่ทางสาธารณะ เพราะที่ดินของบุคคลนั้นมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะหรือที่เรียกว่า ทางจำเป็น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 และเฉพาะกรณีที่บุคคลผู้เสียสิทธิการใช้ทางได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ซึ่งได้ถูกเวนคืนเท่านั้น มิได้หมายความถึงบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307ถึงมาตรา 1401 แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นแม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30464ของนายเซ็น หวังดุล จะถูกเวนคืนเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองเสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้ทางภารจำยอมนั้นหรือไม่ ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18(6)
พิพากษายืน

Share