คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้กำกับแขวงการทาง ได้จ้างเหมาบุคคลภายนอกขนลูกรังมากองตามถนนสายที่กำลังก่อสร้าง แล้วทำบัญชีเป็นว่ามีคนงานของแขวงการทางนั้นทำการขนลูกรังเอง แล้วเบิกจ่ายเงินค่าจ้างรายวันพร้อมทั้งเงินเพิ่มพิเศษประจำเดือนชั่วคราวและเงินยังชีพให้แก่คนงานเหล่านั้น โดยกอรกชื่อบุคคลต่าง ๆ ลงในบัญชีกับให้ลงลายมือชื่อว่าได้รับเงินค่าจ้างในฐานเป็นคนงานของแจวงการทางนั้นจากจำเลยแล้ว ซึ่งความจริงบุคคลที่ลงในบัญชีดังกล่าวมิได้เป็นคนงานของแขวงการทางเลย หากจำเลยได้เอาเงินที่เบิกมาได้นั้นจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาไป ดังนี้เมื่อปรากฏว่าวิธีที่จำเลยให้บุคคลภายนอกรับงานไปทำนั้น ได้ผลงานดีกว่าที่จะให้คนงานรายวันของกรมทางทำเอง ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาก็ย่อมเยาว์ และจำเลยได้จ่ายเงินค่าแรงงานให้ผู้รับเหมารับไปจริง ๆ ไม่มีการเบียดบังเอาไว้เลย จึงไม่มีการเสยหาย จำเลยย่อมไม่ผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 133, 230 ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 736,737/2478,1189/2480

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการเป็นผู้กำกับแขวงการทางชัยนาท มีหน้าที่ควบคุมดูแลการสร้างและบำรุงทางหลวงสายตาคลี – ชัยนาท ฯลฯ จำเลยที่ ๒ เป็นเสมียนอยู่ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๑
จำเลยทั้ง ๒ สมคบกันให้นายสุวรรณ วงษ์ศิริทำการขนลูกรังจากสนามบินตาคลีมากองรายทางตามถนนสายตาคลี ชัยนาท โดยคิดค่าจ้างรวมเป็นเงิน ๑๓๐๐๐ บาท ในการจ่ายเงินคิดค่าจ้างให้นายสุวรรณนี้ จำเลยทั้ง ๒ ได้สมคบกันทำบัญชีหลักฐานเท็จขึ้น ๒ ชุด โดยทำเป็นว่ามีคนงานของแขวงการทางชัยนาททำการขนลูกรังเอง แล้วเบิกจ่ายเงินค่าจ้างรายวันพร้อมทั้งเงินเพิ่มพิเศษประจำเดือนชั่วคราวและเงินยังชีพให้แก่คนงานเหล่านั้นโดย
กรอก ชื่อบุคคลต่างๆลงในบัญชีรายจ่ายเงินค่าจ้างรายวันแบบ ท.๗๑ แล้วลงลายมือชื่อว่าได้รับเงินค่าจ้างในฐานเป็นคนงานของแขวงการทางชัยนาทจากจำเลยที่ ๑ ไปแล้ว ความจริงบุคคลที่ลงชื่อในบัญชีแบบ ท.๗๑ นี้ได้เป็นคนงานของแขวงการทางชัยนาท และมิได้รับเงินค่าจ้างเป็นคนงานของแขวงการทางชัยนาท และมิได้รับเงินค่าจ้างในฐานเป็นคนงานของแขวงการทางชัยนาท แล้วจำเลยได้นำเอาเงินได้เบิกจ่ายได้จากบัญชีแบบ ท.๗๑ อันเป็นเท็จนี้ จ่ายให้แก่นายสุวรรณ วงศ์ศิริ เป็นค่าจ้าง
โจทก์ฟ้องจำเลยทำนองเดียวกันนี้ แยกเป็นข้อหลายข้อ ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๒๙, ๒๓๐, ๑๓๓
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ๑ ก.ข.และฟ้องข้อ ๒ เป็นแต่ผิดระเบียบแบบแผน แต่จำเลยกระทำไปโดยบริสุทธิ์และสุจริตใจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ในทางที่ดีแก่ราชการการแผ่นดินถ่ายเดียว มิได้มีเจตนาทุจริตคิดอุบายพลิกแพลงเพื่อรับเอาผลประโยชน์อันเกิดแก่การกระทำนั้น ทั้งมิได้เกิดการเสียหายแก่ราชการ จำเลยจึงไม่มีความผิดดังโจทก์ฟ้อง ส่วนฟ้องข้อ ๑ ค.นั้น ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าเป็นความจริงดังคำนายสุวรรณ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๓๓, ๒๓๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๖ ปี จำเลยที่ ๒, ๕ปี
จำเลยทั้ง ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนคลอดแล้ว ปรากฏว่าตามคำพยานโจทก์เองว่า วิธีที่จำเลยให้นายสุวรรณรับงานไปทำนั้นได้ผลดีกว่าที่จะให้คนงานราววันของกรมทางจ้างทำเอง ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายแก่นายสุวรรณ ก็ย่อมเยาว์กว่าที่กรมทางจ้างบริษัทกรรมกรไทยทำการจ้างนายสุวรรณ ทำงาน ๒ ครั้งนี้ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยสมยอมทำอะไรกับนายสุวรรณ และข้อเท็จจริงยังฟังได้แน่ชัดว่า เงินค่าแรงงานสำหรับงานที่นายสุวรรณทำ ๒ ครั้งนี้ จำเลยได้จ่ายให้นายสุวรรณรับไปจริงๆ ไม่มีการเบียดบังเอาไว้เลย เมื่อมีการจ่ายเงินให้ผู้จ้างไปจริง เช่นนั้น ศาลฎีกาได้เคยพิพากษามาแล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๙/๒๔๘๐, ๗๓๖-๗๓๗/๒๔๗๘ ว่าเมื่อไม่เสียหาย ก็ไม่มีผิดฐานปลอมหนังสือ
ส่วนฟ้องข้อ ๑ ค. ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างในงานคราวนั้นไปทั้งสิ้น ๒๔๔๙๔ บาท ๔๒ สตางค์ แต่นายสุวรรณเบิกความว่า ได้รับค่าจ้างไปจริงเพียง ๑๓๐๐๐ บาทเท่านั้น จำเลยมิได้สืบหักล้างว่าจำเลยได้จ่ายไปแล้วจริงทั้ง ๒๔๔๙๔ บาท ๔๒ สตางค์ จึงต้องถือว่าจำนวนเงินที่มิได้จ่ายให้นายสุวรรณนั้น จำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จึงเกิดความเสียหายแก่รัฐบาล จำเลยจึงพ้นความรับผิดในข้อนี้ไม่ได้ ต้องมีความผิดฐานทำบัญชีแบบ ท.๗๑ เท็จ และฐานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๓๐, ๑๓๓
จึงพิพากษาแก้ จำคุกจำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๒๓๐ มีกำหนด ๕ ปี ฯลฯ

Share