คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6598/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การดำเนินการก่อสร้างของโจทก์ล่าช้า คนงานน้อยเครื่องมือไม่ทันสมัย ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาแต่สัญญาว่าจ้างฉบับพิพาทระบุเพียงว่า ผู้รับจ้างจะทำการก่อสร้างให้อยู่ภายในสัญญาจะเกินสัญญาไม่ได้เท่านั้นสัญญาว่าจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ชัดแจ้งทั้งโจทก์ก็ประสงค์จะทำงานต่อไปหากจำเลยเห็นว่าโจทก์ทำงานล่าช้ามาก จะเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แต่จำเลยมิได้กระทำ แต่จำเลยกลับให้โจทก์หยุดดำเนินการ ก่อสร้างทันที และว่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างแทนโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ด้วยเหตุ ดังกล่าวย่อมเป็นการใช้สิทธิในการเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการเลิกสัญญาตามมาตรา 605

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยทั้งสองจำนวน 66,780 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 3,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 75,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามคำพิพากษา ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจทำการแทนดำเนินการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองลัดปันยอด โครงการ นบ.4008บ้านคลองราษฎร์นิยม 2 ถึง 3 อำเภอไทรย้อยจังหวัดนนทบุรี ยาว 21 เมตร กว้าง 8 เมตร ค่าจ้าง1,260,000 บาท เริ่มทำงานภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2537แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดปรับวันละ 1,260 บาท ตามสัญญาจ้างเหมาลงวันที่27 มิถุนายน 2537 เอกสารหมาย ล.3 จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างสะพานดังกล่าวในราคาเมตรละ 55,000 บาทโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้าง ตามสัญญาว่าจ้างลงวันที่ 30 มีนาคม 2537 เอกสารหมาย จ.2
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.2 ทำเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2537 โจทก์เบิกความว่าโจทก์เริ่มทำงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2537 โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างให้โจทก์ ซึ่งปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้จัดส่งวัสดุก่อสร้างให้โจทก์เพื่อใช้ก่อสร้างในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2537 ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.9 แสดงว่าโจทก์ได้ทำงานก่อสร้างในช่วงระยะเวลาดังกล่าวตามที่จำเลยทั้งสองได้จัดส่งวัสดุก่อสร้างไปให้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบเชื่อว่าสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.2 ได้ทำในวันที่ 30 มีนาคม 2537 และโจทก์ได้เริ่มทำงานก่อสร้างตั้งแต่นั้นตลอดมา มิใช่เพิ่งเริ่มทำงานปลายเดือนมิถุนายน 2537 แต่ทำสัญญาว่าจ้างย้อนหลังไปวันที่ 30 มีนาคม 2537 ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบส่วนการทำงานของโจทก์ล่าช้าหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทำงานล่าช้าอย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.2 สัญญาว่าจ้างระบุเพียงว่า ผู้รับจ้างจะทำการก่อสร้างให้อยู่ภายในสัญญาจะเกินสัญญาไม่ได้เท่านั้นสัญญาว่าจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้แต่อย่างใด เมื่อสัญญาว่าจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ชัดแจ้ง ทั้งโจทก์ก็ประสงค์จะทำงานต่อไปหากจำเลยทั้งสองเห็นว่าโจทก์ทำงานล่าช้ามาก จะเกิดความเสียหายจำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 แต่จำเลยทั้งสองมิได้กระทำเช่นนั้นกลับให้โจทก์หยุดดำเนินการก่อสร้างทันที และว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดปักษ์ใต้คอนสตรัคชั่นทำการก่อสร้างแทนโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ยังประสงค์จะทำการก่อสร้างต่อไป จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมและบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แต่จำเลยทั้งสองใช้สิทธิในการเลิกสัญญาโดยไม่ชอบเช่นนี้จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605
พิพากษายืน

Share