แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาตาคลี จำเลยที่ 2 ในฐานะ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ และเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินของ ว. บิดาให้แก่ ม. มารดาซึ่งก็ถึงแก่ความตายไปแล้วเช่นกัน โดยอ้างว่า ว. ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เพียงผู้เดียวก่อนถึงแก่ความตาย ม. ผู้เป็นมารดาจึงไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกที่ดินดังกล่าวมาแต่ต้น อันเป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับกองมรดกของ ม. โดยตรง และการขอให้ เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของทายาทอื่นที่มีสิทธิรับมรดกของ ม. ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกทายาทของ ม. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่มีผลผูกพันทายาทอื่นของ ม. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๑๖๓ และที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๒๐๐ ตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ หากจำเลยทั้งสามไม่เพิกถอน ขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายวงษ์ เงินทอง เนื่องจากข้อกำหนดในพินัยกรรมที่โจทก์อ้างไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่านายวงษ์จะยกทรัพย์สินอะไรให้แก่บุคคลใด และไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนายวงษ์ ลายมือชื่อผู้เขียนพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของนายวงษ์ พินัยกรรมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายวงษ์กับนางมะลิ เมื่อนายวงษ์ถึงแก่ความตายนางมะลิย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินในส่วนของนายวงษ์ และเมื่อนางมะลิขอรับโอนที่ดินมรดกดังกล่าวของนายวงษ์ โจทก์และทายาทโดยชอบธรรมทุกคนของนายวงษ์ทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกให้แก่นางมะลิ จำเลยที่ ๑ สอบสวนทำบัญชีเครือญาติและประกาศเรื่องจดทะเบียนมรดกของนายวงษ์ผู้ตายตามระเบียบแล้ว ไม่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรม การโอนมรดกที่ดินของนายวงษ์ให้แก่นางมะลิจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบราชการ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามโดยไม่ต้องฟ้องทายาทของนางมะลิหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกรายนางมะลิซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วออกจากโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยอ้างว่านายวงษ์บิดาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนถึงแก่ความตาย นางมะลิผู้เป็นมารดาจึงไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกที่ดินดังกล่าวมาแต่ต้น อันเป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับกองมรดกของนางมะลิโดยตรง และการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของทายาทอื่นที่มีสิทธิรับมรดกของนางมะลิผู้ตาย ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกทายาทของนางมะลิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่มีผลผูกพันทายาทอื่นของนางมะลิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) สำหรับฎีกาข้ออื่นของโจทก์มิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ