คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ยื่นต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่มีเหตุพิเศษแตกต่างไปจากกรณีการรับหรือไม่ยอมรับอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 และ 198 ทวิดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างใดคดีก็ยังไม่เป็นที่สุดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย คู่ความที่ไม่พอใจคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมฎีกาได้ ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนอกจากอ้างเหตุที่จะขอให้อัยการสูงสุดรับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วยังอ้างเหตุที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารในสำนวนซึ่งมีเป็นจำนวนมากเพื่อทำอุทธรณ์อีกด้วยจึงมิใช่ขอขยายระยะเวลาเพื่อให้อัยการสูงสุดรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงอย่างเดียว แม้โจทก์ร่วมใช้สิทธิขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่รับรองอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเสียไป บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ตรี และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิที่ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาหรืออัยการสูงสุดอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น มิได้บัญญัติจำกัดสิทธิของคู่ความหรือโจทก์ร่วมให้ต้องเลือกใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อขออนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้ภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้นั้นจึงชอบแล้ว กรณีไม่อาจถือว่าระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตให้ขยายได้สิ้นสุดลงนับแต่วันที่อัยการสูงสุดไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงชอบแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์และเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้ก่อนจะมีคำสั่งเพิกถอน ต้องถือว่าคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ครั้นเมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์เช่นนี้ถือได้ว่า มีคำร้องขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์พร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดิมมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและที่ให้เพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องพิจารณาในประการแรกว่าจำเลยมีสิทธิฎีกาได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว ต่อมามีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลพิเศษแตกต่างไปจากกรณีการรับหรือไม่ยอมรับอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 และ 198 ทวิดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างใดก็ยังไม่เป็นที่สุดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย คู่ความที่ไม่พอใจคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมฎีกาได้ จำเลยจึงมีสิทธิฎีกา
ปัญหาประการต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 10 วัน ก็เพื่อขอให้อัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่ออัยการสูงสุดไม่รับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วต้องถือว่าระยะเวลาที่ขอขยายนั้นได้สิ้นสุดลง แม้โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ยังไม่พ้นกำหนด 10 วัน ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตไว้ก็ตามก็ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว และการที่โจทก์ร่วมเลือกใช้สิทธิขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอีกนั้น เห็นว่าตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม นอกจากอ้างเหตุที่จะขอให้อัยการสูงสุดรับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ยังอ้างเหตุที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารในสำนวนซึ่งมีเป็นจำนวนมากเพื่อทำอุทธรณ์อีกด้วย จึงมิใช่ขอขยายระยะเวลาเพื่อให้อัยการสูงสุดรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงอย่างเดียว แม้โจทก์ร่วมใช้สิทธิขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่รับรองอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเสียไป ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นคนใดเมื่อเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายเห็นว่าคดีมีเหตุอันควรให้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง ก็ให้ผู้พิพากษาดังกล่าวมีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และให้อำนาจอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรให้อุทธรณ์ได้ ซึ่งเห็นได้ว่าในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง หากผู้พิพากษาดังกล่าวไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ กฎหมายเปิดโอกาสให้คู่ความขอให้อัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ได้ ในทำนองเดียวกันเมื่ออัยการสูงสุดไม่รับรองอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ผู้พิพากษาที่กฎหมายให้อำนาจไว้อนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาหรืออัยการสูงสุดอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น มิได้บัญญัติจำกัดสิทธิของคู่ความหรือโจทก์ร่วมให้ต้องเลือกใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อขออนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้ภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้นั้นจึงชอบแล้ว เพราะไม่อาจถือว่าระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตให้ขยายได้สิ้นสุดลงนับแต่วันที่อัยการสูงสุดไม่รับรองอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ดังที่จำเลยฎีกากรณีจึงไม่มีเหตุให้ผู้พิพากษาดังกล่าวเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบแล้วนั้นอีกคำสั่งที่ให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์และเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสียนั้นชอบแล้ว
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้ก่อนจะมีคำสั่งเพิกถอน ต้องถือว่าคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ครั้นเมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ถือได้ว่ามีคำร้องขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำสั่งตามบทบัญญัติมาตรา 182
พิพากษายืน

Share