แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาสำหรับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยาน เป็นการเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 110 และมาตรา 122 ซึ่งมาตรา 110 ได้ระบุตัวผู้รับผิดไว้คือ นายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ แม้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติความรับผิดทางอาญาแต่ก็เนื่องมาจากความรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาอันเป็นความรับผิดทางแพ่งการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยานเป็นการกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดแก่อากาศยาน ซึ่งนายเรือหรือผู้ควบคุมอากาศยานเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จำเลยเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่บริษัทสายการบิน เพื่อใช้เติมให้แก่อากาศยานแม้จะเป็นผู้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรแต่จำเลยก็ไม่ใช่นายเรือและไม่ได้ความว่าเป็นตัวแทนนายเรือและไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ผู้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรเป็นผู้รับผิด จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาจำนวน8,404,810.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 6,274,000 บาท นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมต่าง ๆให้แก่รัฐ ตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และกฎหมายอื่นกำหนดไว้ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจการค้าได้ทำการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยานก่อนจะเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ในวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุดและก่อนหรือหลังเวลาราชการ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2523ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2523 และวันที่ 1 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 จำเลยชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาตามช่วงเวลาแต่มิได้ชำระเป็นรายลำอากาศยานตามที่จำเลยได้ทำการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้ ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในใบแนบ ศ.3ท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521) และประกาศกรมศุลกากรที่ 14/2521 ที่กำหนดให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมเป็นรายลำอากาศยานเมื่อคำนวณจำนวนอากาศยานที่มารับน้ำมันจากจำเลยตามวันเดือนปีดังกล่าวข้างต้นเป็นรายลำอากาศยานแล้ว จำเลยค้างชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์ 8,404,810.80 บาทคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยก็โดยอาศัยกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2483ข้อ 3 และกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521) ซึ่งกำหนดว่าการที่พนักงานไปประจำก่อนหรือหลังเวลาราชการหรือในวันอาทิตย์หรือวันหยุดราชการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 110 นั้น ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามใบแนบ ศ.3ท้ายกฎนี้ ดังนั้น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาสำหรับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยาน ณท่าอากาศยานกรุงเทพฯ จึงเป็นการเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 110 และมาตรา 122ซึ่งมาตรา 110 บัญญัติว่า “ถ้าเรือลำใดบรรทุกลงหรือถ่ายออกซึ่งของหรือสินค้าอย่างใด ๆ ก็ดี หรือกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ในวันอาทิตย์หรือวันหยุดหรือก่อนหรือภายหลังเวลาราชการดังกล่าวไว้ “ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง” นอกจากจะได้รับอนุญาตจากอธิบดี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตรา “ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง” ท่านว่านายเรือหรือตัวแทน หรือทั้งสองคนร่วมกันมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท แต่การที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ไม่ทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากโทษที่จะพึงต้องรับตามมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้” มาตรา 122 บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดวันหยุดและเวลาราชการศุลกากรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม” ส่วนคำว่า “นายเรือ” ตามมาตรา 2หมายความว่าบุคคลใด ๆ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือควบคุมเรือและตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2480 มาตรา 3(1)ให้ความหมายของคำว่า “เรือกำปั่น” หรือ “เรือ” ให้มีความหมายรวมถึงอากาศยาน และคำว่า “นายเรือ” ให้มีความหมายรวมถึงผู้ควบคุม ดังนั้น คำว่า “นายเรือ” จึงมีความหายถึงผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยานและมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรและตามบทบัญญัติมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ระบุตัวผู้รับผิดไว้ คือนายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ แม้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติความรับผิดในทางอาญา แต่ก็เนื่องมาจากความรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาอันเป็นความรับผิดทางแพ่งนั่นเอง การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยานเป็นการกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดแก่อากาศยาน ซึ่งนายเรือหรือผู้ควบคุมอากาศยานเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจึงเป็นหน้าที่ของนายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันที่จะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมดังกล่าว จำเลยเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่บริษัทสายการบิน เพื่อใช้เติมให้แก่อากาศยานแม้จะเป็นผู้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรแต่จำเลยก็ไม่ใช่นายเรือและไม่ได้ความว่าเป็นตัวแทนนายเรือตามบทบัญญัติมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ผู้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรเป็นผู้รับผิด จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาใดในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่โจทก์ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน