แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย เพราะ ผู้ตายมีมรดกที่จะต้องแบ่งปันแก่ทายาท มีเหตุขัดแย้งในการแบ่งปันมรดก และผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย หากการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นปรากฏว่าผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควร ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก และตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ก็ได้ หรือหากศาลไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมจะตั้ง ผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้ ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วแม้ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ตั้ง ช. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องโดยผู้คัดค้านจะไม่ได้ขอให้ ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายก็ตาม แต่เมื่อปรากฏในทางพิจารณาว่า การจัดการมรดก อาจเกิดความไม่เป็นธรรมได้เพราะผู้ร้องซึ่งเป็น ผู้จัดการมรดกผู้ตายอยู่เดิม อ้างว่าผู้ตายไม่มีมรดก และผู้คัดค้านไม่มีสิทธิรับมรดก จึงเป็นการสมควรที่ศาล จะตั้ง ช. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้เพื่อให้การจัดการมรดกได้เป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม และการที่ศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องต่อมานั้น เป็นการพิจารณาว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียหรือไม่ ช. มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกและเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมหรือไม่ ดังนี้ เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านมิใช่คู่ความรายเดียวกัน ประเด็นตามคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นคนละประเด็นกัน จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายนพคุณ นาคามดี ผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและทายาทโดยธรรมของผู้ตาย มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านเพิ่งจะทราบว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านประสงค์จะขอตั้งผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง เนื่องจากผู้ตายมีทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งปันแก่ทายาท ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนางสาวชมนาฎ อัมพรพิพัฒน์ เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรของนายนพคุณ นาคามดี ผู้ตาย เพราะผู้ตายได้ทำหมันแล้วตั้งแต่ปี 2521 จึงไม่สามารถมีบุตรได้ ผู้ร้องเพิ่งทราบว่าบรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์นั้นไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตาย แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของนางบุญนาค นาคามดี มารดาของผู้ตายซึ่งได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตัดมิให้ผู้ตายเป็นผู้รับมรดกและยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่นายนพรัตน์ นาคามดี และนายนพเก้า นาคามดีบุตรของผู้ตาย ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเป็นมรดกที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกอีก ทั้งผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนที่ดินทั้งหมดให้แก่นายนพรัตน์ นาคามดี และนายนพเก้า นาคามดี ตามพินัยกรรมของนางบุญนาค นาคามดีแล้ว ขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นางสาวชมนาฎ อัมพรพิพัฒน์ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายบุลากร นาคามดีเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการแรกว่า นายนพคุณ นาคามดี ผู้ตายมีมรดกที่จะแบ่งปันแก่ทายาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องก็อ้างว่าผู้ตายมีที่ดินและทรัพย์สินอื่นที่จะต้องแบ่งปันแก่ทายาท ทั้งตามโฉนดที่ดินเลขที่ 73515 เลขที่ 41989 ถึง 41994 ตามเอกสารหมาย รค.8 ถึง รค.14 และโฉนดที่ดินเลขที่ 32732 ตามเอกสารหมาย รค.15ล้วนมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ก่อน เพิ่งโอนมรดกเป็นของนายนพเก้าและนายนพรัตน์ภายหลังจากผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอตั้งนางสาวชมนาฎ อัมพรพิพัฒน์ เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายร่วมกับผู้ร้องทั้งสิ้น นอกจากนี้ผู้ตายยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 16873 ตามเอกสารหมาย ร.6 ที่ยังไม่ได้จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาท จึงฟังได้ว่าผู้ตายมีมรดกที่จะแบ่งปันแก่ทายาท ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นของนางบุญนาค นาคามดีโดยนางบุญนาคได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตัดมิให้ผู้ตายได้รับมรดกของนางบุญนาคและยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้นายนพรัตน์และนายนพเก้าแล้ว ผู้ตายจึงไม่มีมรดกที่จะแบ่งแก่ทายาทนั้น เมื่อขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายและผู้คัดค้านขอตั้งผู้จัดการมรดกร่วมทรัพย์ดังกล่าวยังมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ และผู้คัดค้านก็อ้างว่าเป็นมรดกผู้ตาย ในเบื้องต้นจึงต้องฟังว่าผู้ตายมีมรดกที่จะต้องจัดการและแบ่งปันแก่ทายาท ส่วนทรัพย์รายใดจะเป็นมรดกของผู้ตายหรือไม่ อย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นแบ่งปันมรดกแก่ทายาท
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า หากตั้งนางสาวชมนาฎเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องจะทำให้เป็นคดีความบานปลายไม่มีที่สิ้นสุดจะก่อให้เกิดปัญหาและเป็นการไม่ชอบอย่างยิ่ง เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกและผู้คัดค้านไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกใด ๆของนางบุญนาค อีกทั้งทำให้ผู้ร้องไม่สามารถจัดการมรดกให้เป็นของนายนพรัตน์และนายนพเก้าผู้มีสิทธิที่แท้จริงได้เลยนั้น เห็นว่า เพราะผู้ร้องไม่ยอมรับว่าผู้ตายมีมรดกที่จะต้องแบ่งปันแก่ทายาท และไม่ยอมรับว่าผู้คัดค้านมีสิทธิรับมรดก ในขณะที่ผู้คัดค้านก็อ้างว่าผู้ตายมีมรดกและผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับมรดก จึงมีเหตุขัดข้องที่ศาลต้องตั้งนางสาวชมนาฎเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทายาทของผู้ตายทุกฝ่าย
สำหรับฎีกาของผู้ร้องที่ว่า ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายไปแล้ว กลับให้นางสาวชมนาฎเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น เห็นว่า ในการที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายนั้น ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ตายมีมรดกที่จะต้องแบ่งปันแก่ทายาท มีเหตุขัดแย้งในการแบ่งปันมรดกดังกล่าว และผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายหากการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ก็ได้ หรือหากศาลไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมจะตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้แม้ในคดีนี้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย เมื่อปรากฏในทางพิจารณาว่า การจัดการมรดกอาจเกิดความไม่เป็นธรรมได้เพราะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายอยู่เดิม อ้างว่าผู้ตายไม่มีมรดก และผู้คัดค้านไม่มีสิทธิรับมรดกจึงเป็นการสมควรที่ศาลจะตั้งนางสาวชมนาฎเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง เพื่อให้การจัดการมรดกได้เป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม การที่ศาลตั้งนางสาวชมนาฎเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องเป็นการพิจารณาว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียหรือไม่ นางสาวชมนาฎมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกและเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมหรือไม่ ผู้ร้องและผู้คัดค้านมิใช่คู่ความรายเดียวกันประเด็นตามคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นคนละประเด็นกันจึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
พิพากษายืน