คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6555/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์อาศัยสิทธิตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดข้อพิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ดังนี้ ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์อ้างว่าได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของโจทก์ไปขอจดทะเบียนโดยไม่ชอบ หาใช่จำเลยที่ 2ผู้เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และกรมทะเบียนการค้าจำเลยที่ 3 ไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า “NattySHOES”และรูปคนยืนในรองเท้า ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นอักษรโรมัน คำว่า “NATTY” แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีคำว่า”SHOES” อยู่ใต้คำว่า “Natty” และมีรูปคนยืนอยู่ในรองเท้าซึ่งเป็นส่วนประกอบ ส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่มี คงมีคำว่า “NATTY” ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่คำเดียว และการประดิษฐ์ตัวอักษรโรมันแตกต่างกันแต่สำเนียงเรียกขานและคำแปลเหมือนกันคือทั้งของโจทก์และจำเลยที่ 1ต่างเรียกขานว่า แน็ตตี้แปลว่าหรูสมาร์ทโก้ เหมือนกันอักษรอื่นและรูปคนยืนในรองเท้าซึ่งเป็นส่วนประกอบในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีความเด่นชัดเท่ากับคำว่า “Natty” ที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีสาระสำคัญอยู่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศและมีสำเนียงเรียกขานเหมือนกัน ผู้ซื้อย่อมเรียกขานสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เหมือนกันว่า แน็ตตี้ ผู้ซื้อจึงอาจสับสนหลงผิดได้ว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าเป็นเจ้าของคนเดียวกันเมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ต่างขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกเดียวกัน แม้ขณะพิพาทจะใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าต่างชนิดกัน แต่ก็อยู่ในจำพวกเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดได้ว่าสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เป็นของผู้ผลิตรายเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1จึงเหมือนและคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้วการที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันเช่นนี้เป็นการจงใจใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “NATTY” ให้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยจำเลยที่ 1 เห็นว่าสินค้าของโจทก์ที่มีเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะคำว่า “Natty” เป็นที่นิยมแพร่หลายเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1เป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty”มาก่อนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า”Natty” ที่เขียนเป็น 2 แบบว่า “Natty” และ “NATTY” ดีกว่าจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “Natty” และรูปคนประดิษฐ์อยู่ในรูปรองเท้า ซึ่งโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้ารองเท้าชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2523 ครั้นปี 2526 โจทก์เคยให้นายชัยโรจน์นำเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ไปยื่นขอจดทะเบียน แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธการรับจดทะเบียน โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty”กับสินค้าของโจทก์มาตลอด ต่อมาปี 2529 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในนามของโจทก์เอง โดยยื่นขอในรายการสินค้าจำพวก 38 สำหรับสินค้ารองเท้าหนัง รองเท้าสตรี รองเท้าแตะรองเท้าผ้าใบ รองเท้ายาง ปรากฏว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ของจำเลยที่ 1ตามทะเบียนเลขที่ 108924 ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้ในรายการสินค้าจำพวก 38 สำหรับสินค้าทั้งจำพวกอันเป็นรายการเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย ซึ่งสินค้ารองเท้าก็รวมอยู่ในจำพวก 38 นี้ด้วย การที่จำเลยที่ 1 ลอบเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ของโจทก์ไปจดทะเบียนทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ได้ใช้และยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ก่อนที่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ดีกว่าจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ดีกว่าจำเลยที่ 1ให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 155261 ทะเบียนเลขที่ 108924 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” และรูปคนประดิษฐ์อยู่ในรองเท้าโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty”เป็นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 คิดประดิษฐ์ขึ้นเอง จำเลยที่ 1จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” จำเลยที่ 1นำไปจดทะเบียนโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนให้แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty”ซึ่งเขียนเป็น 2 แบบ ว่า “Natty” และ “NATTY” ดีกว่ากัน และจำเลยทั้งสามต้องเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 108924เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อาศัยสิทธิตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดข้อพิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ดังนี้ ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์อ้างว่าได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของโจทก์ไปขอจดทะเบียนโดยไม่ชอบ หาใช่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และกรมทะเบียนการค้าจำเลยที่ 3 ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนให้จำเลยที่ 1ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า “Natty SHOES”และรูปคนยืนในรองเท้า ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เป็นอักษรโรมัน คำว่า “Natty” แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีคำว่า “SHOES” อยู่ใต้คำว่า “Natty” และมีรูปคนยืนอยู่ในรองเท้าซึ่งเป็นส่วนประกอบ ส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่มี คงมีคำว่า”NATTY” ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่คำเดียว และการประดิษฐ์ตัวอักษรโรมันแตกต่างกัน แต่สำเนียงเรียกขานและคำแปลเหมือนกัน คือ ทั้งของโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเรียกขานว่า แน็ตตี้ แปลว่า หรู สมาร์ท โก้เหมือนกัน อักษรอื่นและรูปคนยืนในรองเท้าซึ่งเป็นส่วนประกอบในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีความเด่นชัดเท่ากับคำว่า”Natty” ที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีสาระสำคัญอยู่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศและมีสำเนียงเรียกขานเหมือนกัน ผู้ซื้อย่อมเรียกขานสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เหมือนกันว่า แน็ตตี้ ผู้ซื้อจึงอาจสับสนหลงผิดได้ว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าเป็นของเจ้าของคนเดียวกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และของจำเลยที่ 1ต่างขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกเดียวกัน แม้ขณะพิพาทจะใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าต่างชนิดกัน แต่ก็อยู่ในจำพวกเดียวกันย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดได้ว่าสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1เป็นของผู้ผลิตรายเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 จึงเหมือนและคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้ว ส่วนปัญหาว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ซึ่งเขียนเป็น 2 แบบ ว่า “Natty” และ “NATTY”ดีกว่ากัน ปรากฏว่าปี 2526 โจทก์ได้ให้นายชัยโรจน์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty SHOES” และรูปคนอยู่ในรองเท้า ใช้กับสินค้าจำพวก 38 รายการ สินค้ารองเท้าหนังรองเท้าสตรี รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้ายาง และรองเท้าอื่น ๆทุกชนิดตามสำเนาคำขอเลขที่ 129291 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเห็นว่าคำว่า “Natty SHOES” เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะผู้ขอจดทะเบียนอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียน แต่โจทก์ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งปี 2529 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีกครั้งหนึ่ง แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ยอมจดทะเบียนให้โดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “NATTY” ของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”NATTY” มาเพียง 1 ปี ก่อนนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนย่อมแสดงว่าจำเลยได้ใช้คำว่า “Natty” เป็นเครื่องหมายการค้าของตนมาแต่ปี 2528 อันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันเช่นนี้เชื่อว่าจำเลยจงใจใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “NATTY” ให้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ด้วยจำเลยที่ 1 เห็นว่าสินค้าของโจทก์ที่มีเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะคำว่า “Natty”นี้เป็นที่นิยมแพร่หลายเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” มาก่อนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Natty” ที่เขียนเป็น 2 แบบ ว่า “Natty” และ “NATTY”ดีกว่าจำเลยที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 155261 ทะเบียนเลขที่ 108924

Share