คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 654/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 14 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 3 พ.ศ.2494 ที่บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ชำระค่าภาคหลวงให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ให้ไม้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์จะเรียกเก็บค่าภาคหลวงตามมาตรา 14(2) ได้ก็ต่อเมื่อมีไม้อยู่ในเวลาที่เรียกเก็บค่าภาคหลวงมิฉะนั้นเมื่อผู้รับอนุญาตไม่ชำระ ก็ไม่มีไม้ตกเป็นของแผ่นดิน
โจทก์มีหนังสือเรียกเก็บค่าภาคหลวงจากจำเลยภายหลังที่ไม้ซึ่งมีรอยตราค่าภาคหลวงสูญหายไปหมด ไม่มีไม้เหลืออยู่จึงเป็นการเรียกเก็บค่าภาคหลวงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์จะเอาเงินมัดจำการตรวจตีตราค่าภาคหลวงจำนวน 30,000บาท นั้นไปหักชำระเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าภาคหลวงไม่ได้ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าภาคหลวงที่โจทก์ยังอ้างว่ายังขาดอยู่นั้นอีกด้วย โจทก์ชอบที่จะคืนเงิน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยแต่ละรายตามส่วนการทำไม้ของจำเลย
โจทก์เรียกเก็บค่าภาคหลวงจากจำเลยภายหลังที่ไม้ที่มีตราค่าภาคหลวงทั้ง 1,021 ท่อนนั้นได้สูญหายไปหมด ไม่มีไม้เหลืออยู่จึงไม่มีไม้ที่ทำออกซึ่งจะต้องเสียค่าภาคหลวงโจทก์จึงเอาเงิน 30,000 บาทมาหักกลบลบกับค่าภาคหลวง ซึ่งจำเลยจะต้องชำระตามที่โจทก์อ้างหาได้ไม่ จำเลยแต่ละรายมีสิทธิที่จะได้รับค่าภาคหลวงล่วงหน้าตามใบอนุญาตของตนคืน

ย่อยาว

คดีทั้ง 15 สำนวนนี้ศาลสั่งทำการพิจารณาพิพากษารวมกัน

คดีดำที่ 1/10 ถึง ที่ 13 และที่ 15/10 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าที่ค้างอยู่แต่ละสำนวนให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย

คดีดำที่ 14/10 โจทก์ฟ้องให้คืนเงินค่าภาคหลวงและเงินบำรุงป่าให้โจทก์

จำเลยทุกสำนวนให้การและบางสำนวนจำเลยฟ้องแย้งด้วย

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบางสำนวน และพิพากษาในบางสำนวนให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ ฯลฯ

กรมป่าไม้กับพวกโจทก์อุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นได้รับรองว่าข้อเท็จจริงมีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

กรมป่าไม้กับพวกโจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์เอาเงินที่จำเลยชำระเป็นค่าภาคหลวงล่วงหน้า 2,610 บาท กับเงินมัดจำค่าภาคหลวง 30,000 บาท หักเป็นค่าภาคหลวงไม้ส่วนหนึ่ง ตามเอกสารหมาย จ.6 นั้น ชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 14, 16แล้วประการหนึ่งกับอีกประการหนึ่ง ตามกฎหมายดังกล่าวนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินค่าภาคหลวงที่ยังขาดตามฟ้องจากจำเลยได้จนครบ กับว่าจำเลยแต่ละสำนวนไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าภาคหลวงล่วงหน้าที่วางไว้เพราะเป็นเงินของนายยี

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกับพวกรวม 16 ราย ตามรายละเอียดในเอกสาร จ.6 ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตัดฟันไม้กระยาเลยในป่าอำเภอเชียงดาว จำเลยกับพวกได้มอบให้นายยีผู้รับมอบให้ตัดฟันไม้ชำระเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้าไว้ 2,610 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยกับพวกทำการตัดฟันไม้ตามใบอนุญาตได้เป็นจำนวน 3,804 ท่อนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เรียกเก็บมัดจำเงินค่าภาคหลวงและเงินค่าบำรุงป่าจากนายยีชำระแทนพวกจำเลย 30,000 บาท และได้ออกไปตีตราค่าภาคหลวงไม้ให้ได้เป็นจำนวน 1,021 ท่อน และคำนวณค่าภาคหลวงที่จะต้องเสียแท้จริงให้ว่าค่าภาคหลวงที่จะต้องเสียแต่ละคนรวมเป็นเงิน 50,128.80 บาท ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยแต่ละคนมีหน้าที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามส่วน แต่ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ได้ตีตราค่าภาคหลวงไม้ 1,021 ท่อนแล้วนั้น นายสถิตย์ป่าไม้เขตได้ทำการจับกุมยึดไม้ที่จำเลยกับพวกตัดฟันไว้ทั้งหมดเป็นจำนวน 3,804 ท่อนซึ่งรวมทั้งไม้ 1,021 ท่อน ที่จำเลยทำออกโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วนั้นด้วย กล่าวหาว่าจำเลยกับพวกทำไม้โดยผิดกฎหมาย ต่อมาก่อนที่โจทก์เรียกเก็บค่าภาคหลวงที่อ้างว่ายังขาดอยู่อีกนั้น ปรากฏว่าไม้จำนวน 1,021 ท่อนนั้น สูญหายไปหมด โดยถูกคนร้ายลักบ้าง ไฟป่าไหม้ไปบ้าง

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 14ซึ่งแก้โดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2484 ที่บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้ได้รับอนุญาตไม่ชำระค่าภาคหลวงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาดังกล่าว ให้ไม้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์จะเรียกเก็บค่าภาคหลวงตาม มาตรา 14(2) ได้ก็ต่อเมื่อมีไม้อยู่ในเวลาที่เรียกเก็บค่าภาคหลวง มิฉะนั้นเมื่อผู้ได้รับอนุญาตไม่ชำระ ก็ไม่มีไม้ตกเป็นของแผ่นดิน

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้มีหนังสือเรียกเก็บค่าภาคหลวงจากจำเลยภายหลังที่ไม้ซึ่งมีรอยตราค่าภาคหลวงทั้ง 1,021 ท่อนนั้นสูญหายไปหมด ไม่มีไม้เหลืออยู่แล้ว จึงเป็นการเรียกเก็บค่าภาคหลวงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้นซึ่งโจทก์จะเอาเงินมัดจำการตรวจตีตราค่าภาคหลวงจำนวน 30,000 บาทนั้นไปหักชำระเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าภาคหลวงไม่ได้ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าภาคหลวงที่โจทก์อ้างว่ายังขาดอยู่นั้นอีกด้วย โจทก์ชอบที่จะต้องคืนเงิน 30,000 บาทรายนี้ให้แก่จำเลยแต่ละรายตามส่วนการทำไม้ของจำเลย

ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ทำไม้ออก 1,021 ท่อน ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงต้องเอาเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้าไปหักเป็นค่าภาคหลวงไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 16 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้เรียกเก็บค่าภาคหลวงจากจำเลย ภายหลังที่ไม้ที่มีตราค่าภาคหลวงทั้ง 1,021 ท่อนนั้นได้สูญหายไปหมด ไม่มีไม้เหลืออยู่แล้วจึงไม่มีไม้ที่ทำออกซึ่งจะต้องเสียค่าภาคหลวง โจทก์จึงเอาเงิน 30,000 บาท มาหักกลบกับค่าภาคหลวงซึ่งจำเลยจะต้องชำระที่โจทก์อ้างหาได้ไม่ จำเลยแต่ละรายจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าภาคหลวงล่วงหน้าตามใบอนุญาตของตนคืน

พิพากษายืน

Share