คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 จะต้องเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผ. ทำทีเป็นพูดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเอาโทรศัพท์ไปในขณะที่ผู้เสียหายให้บริการลูกค้าคนอื่นอยู่ เป็นการเอาไปในขณะเผลอ มิใช่เป็นการฉกฉวยทรัพย์ไปโดยซึ่งหน้าแต่ประการใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเหตุเกิดในเวลากลางคืนและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) และ 335 (7) ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคสอง ซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
อนึ่ง ทรัพย์ที่ศาลจะสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้ ต้องปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวกในการพาทรัพย์หลบหนี มิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 336, 336 ทวิ ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 3 ปี ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 2 เดือนต่อหนึ่งครั้งภายใน 1 ปี และทำงานสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือวิ่งราวทรัพย์ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่า ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 จะต้องเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ตามทางนำสืบของโจทก์กลับได้ความว่า นางสาวน้ำผึ้งทำทีเป็นพูดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเอาโทรศัพท์ไปในขณะที่ผู้เสียหายให้บริการลูกค้าคนอื่นอยู่ เป็นการเอาไปในขณะเผลอ มิใช่เป็นการฉกฉวยทรัพย์ไปโดยซึ่งหน้าแต่ประการใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเหตุเกิดในเวลากลางคืนและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) และ 335 (7) ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสอง ซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาริบรถจักรยานยนต์ของกลางด้วยนั้น เห็นว่า ทรัพย์ที่ศาลจะสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ได้ ต้องปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวกในการพาทรัพย์หลบหนี มิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 335 (1) (7) ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 คืนรถจักรยานยนต์ให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share