แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องเกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทแต่ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องขับไล่ได้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงพิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเฉพาะค่าเช่าเท่านั้นเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาในส่วนของค่าเช่าไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง ข้อตกลงเรื่องจัดการซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศและจัดการขับไล่แผงลอยหน้าอาคารที่เช่าไม่มีระบุในสัญญาเช่าอาคารซึ่งเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ฉะนั้นการที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงดังกล่าวจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข)เพราะเป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ 2221 ต่อโจทก์ มีกำหนด 3 ปี อัตราค่าเช่า6 เดือนแรก เดือนละ 90,000 บาท ต่อจากนั้นเดือนละ 100,000 บาทต่อมาเดือนกรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาสยามสแควร์ จำนวน 4 ฉบับโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายฉบับละ 100,000 บาท ลงวันที่ 30กันยายน 2532, 31 ตุลาคม 2532, 30 พฤศจิกายน 2532 และวันที่31 ธันวาคม 2532 ตามลำดับให้แก่โจทก์ เพื่อชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเช็คทุกฉบับขึ้นเงินไม่ได้ และจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียง 172,500 บาท คงค้างอยู่อีก227,500 บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกจากอาคารพิพาท เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้รื้อทำลายฝ้าเพดาน กำแพงอาคารและทำให้ทรัพย์สินภายในอาคารสูญหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินค่าเช่าที่ค้างชำระ227,500 บาท กับให้ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการนำอาคารพิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในเงินทั้งสองจำนวนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของยอดเงินค่าเสียหายแต่ละเดือนนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาทและส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพดี และให้จำเลยที่ 1 แก้ไขดำเนินการติดตั้งทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 รื้อถอนไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 มิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน 257,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2533 จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 แก้ไขทรัพย์สินของโจทก์ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือวันชำระเงินเสร็จ กับให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ แต่ได้เช่าจากนายอิทธิพล คงธนาสมบูรณ์ นายอิทธิพลได้นำแบบฟอร์มของบริษัทโจทก์มาใช้และโจทก์ได้ประทับตราบริษัทโจทก์ในภายหลังโดยในสัญญาคู่ฉบับซึ่งอยู่ที่จำเลยไม่มีตราประทับดังกล่าวหากสัญญาเช่ามีตราประทับของโจทก์ตั้งแต่แรกนายอิทธิพลเพียงคนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ สัญญาจึงไม่สมบูรณ์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าเมื่อเดือนพฤษภาคม2532 นายอิทธิพลได้ให้จำเลยที่ 1 เขียนเช็คสั่งจ่ายให้แก่นายอิทธิพลเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยที่ 1 จึงยืมเช็คของจำเลยที่ 2 มอบให้นายอิทธิพลไว้ โดยตกลงกันว่าเมื่อถึงเวลาที่ระบุไว้ในเช็คแต่ละฉบับก็ให้นายอิทธิพลนำไปแลกเงินสดคืนจากจำเลยที่ 1 นายอิทธิพลตกลงซ่อมเครื่องปรับอากาศในอาคารพิพาทที่ชำรุดให้กลับใช้การได้ดีและจะย้ายแผงลอยซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอาคารพิพาทออกไป จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าของเดือนกันยายนและตุลาคม 2532 แล้ว และชำระค่าเช่าของเดือนพฤศจิกายน 2532บางส่วน แต่โจทก์ได้งดการใช้น้ำของจำเลยที่ 1 และปิดเครื่องปรับอากาศ จำเลยที่ 1 ไม่อาจประกอบธุรกิจตามปกติได้จึงระงับการชำระเงินค่าเช่าของเดือนธันวาคม 2532 โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยืมเช็คของจำเลยที่ 2ไปค้ำประกันการเช่าอาคารพิพาทต่อนายอิทธิพล คงธนาสมบูรณ์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า ต่อมานายอิทธิพลผิดสัญญา จึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 175,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องเกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท แต่ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องขับไล่ได้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงพิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเฉพาะค่าเช่าเท่านั้น เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าขณะทำสัญญานายอิทธิพลได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่า นายอิทธิพลไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ทำสัญญาเช่า แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ากับนายอิทธิพลในฐานะส่วนตัวเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบว่าโจทก์ไม่จัดการแก้ไขปรับปรุงเครื่องปรับอากาศภายในอาคารพิพาทแล้วไม่ขับไล่แผงลอยหน้าอาคารตามข้อตกลงขณะทำสัญญา ไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) นั้น เห็นว่า ข้อตกลงเรื่องจัดการซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศและจัดการเรื่องแผงลอยไม่มีระบุในสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงดังกล่าวจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) เพราะเป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน