แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่ โดยโจทก์เพียงลดยอดหนี้ให้จำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้เปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2หากแต่เพิ่มให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดในหนี้เดิมส่วนหนึ่งเพื่อให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายเท่านั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้เดิมจึงยังไม่ระงับไป
โจทก์เป็นสถาบันการเงิน มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 30(2) กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 แม้ตามสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1 จะยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์โดยโจทก์ยอมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดได้เพียงอัตรานี้ แม้ตามสัญญาจำนองจะกำหนดดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ21 ต่อปี แต่หนี้ตามสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ เมื่อต่อมาโจทก์คิดดอกเบี้ยหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานได้เพียงอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปีโจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้สูงกว่าอัตรานี้ได้
ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 รับว่ายังค้าชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 623,309 บาท รวม4,246,622 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในยอดเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ตามสัญญาจำนองของต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นไป ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปีนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1ยอมชำระหนี้โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำนวน3,000,000 บาท และให้สัญญาจำนองมีภาระตามสัญญาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะได้ยกอายุความขึ้นปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยค้างชำระ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 12,930,247 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 112722, 112723, 112724, 112725 และ112726 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายและไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว นอกจากนี้โจทก์ตกลงเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีชื่อและต่อมาโจทก์ได้ฟ้องผู้มีชื่อในมูลหนี้รายเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพราะดอกเบี้ยระงับไปตั้งแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย โจทก์ไม่เสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีบังคับจำนอง อย่างไรก็ตามโจทก์ตกลงลดหนี้ให้บุคคลภายนอกซึ่งเข้าเป็นลูกหนี้แทนจำเลยที่ 1 คงเหลือยอดหนี้เพียง3,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 112722, 112723, 112724, 112725 และ 112726 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13สิงหาคม 2525 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 4,500,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 169,538 บาท จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 112722, 112723, 112724, 112725 และ 112726พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ดังกล่าวยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปี มีข้อตกลงให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นได้ด้วย และยอมชดใช้ค่าเสียหายในการดำเนินคดีอีกร้อยละ 5 ของวงเงินจำนอง จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เพียงบางส่วน ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่ายังค้างชำระต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 623,309 บาท ขอผ่อนชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าเดือนละ 50,000บาท และจะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 1 ปี โดยโจทก์จะไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างนี้ แต่หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องระงับไปโดยแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือไม่ โจทก์มีนายสุรพล ศรีบุญเรือง เบิกความว่า วันที่ 16 กันยายน2536 จำเลยที่ 1 มาเจรจากับโจทก์ขอชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ฉบับแรกแล้วขอให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้ทั้งสองฉบับ โจทก์เสนอให้ชำระด้วยเงินสดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของยอดหนี้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปบังคับตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนอง จำเลยที่ 1จะให้บุคคลภายนอกชำระแทนจำนวน 2,000,000 บาทเศษ ส่วนที่เหลือจะให้จำเลยที่ 2 มาค้ำประกัน โจทก์ตกลง จึงได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันชำระหนี้แทนเอกสารหมาย จ.19 ขึ้น เห็นว่า หากโจทก์และจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2 ก็น่าจะระบุลักษณะของสัญญาว่าเป็นหนังสือสัญญาแปลงหนี้ใหม่ ทั้งตามสัญญาข้อ 4 ก็ระบุไว้ชัดว่า ข้อตกลงการชำระหนี้ข้างต้นไม่เป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือแปลงหนี้ใหม่แต่อย่างใด เป็นการยืนยันเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่ามิได้มีเจตนาแปลงหนี้ใหม่ เพื่อให้หนี้เดิมระงับหรือทำสัญญาค้ำประกันตามชื่อของสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด และแม้ตามสัญญาข้อ 1 ตอนท้ายระบุว่า จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนชำระหนี้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท แต่ก็ได้ระบุเหตุผลไว้ตอนต้นว่า เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่อาจชำระหนี้เองได้ ทั้งมีหมายเหตุท้ายหนังสือสัญญาว่า โจทก์จะดำเนินการถอนคำขอรับชำระหนี้เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกจำนวน2,679,165.46 บาท และทรัพย์ที่จำนองยังคงมีภาระตามสัญญาจำนองทุกประการจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน สนับสนุนให้น่าเชื่อตามคำพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้กึ่งหนึ่งก่อนโดยให้นายนเรนทร์ชำระเป็นเงินสดส่วนหนึ่ง กับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทนเพื่อโจทก์จะได้ถอนคำขอรับชำระหนี้แล้วไปดำเนินการบังคับตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และโจทก์ลดยอดหนี้ให้เหลือ 5,600,000 บาทโดยชำระเป็นเงินสดจำนวน 2,600,000 บาทเศษ ส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 2ชำระแทนนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ทั้งสองฉบับรวม 11,000,000 บาทเศษ ทั้งหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ฉบับหลังจำนวน 9,000,000 บาทเศษ มีที่ดินจำนองเป็นประกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองได้ก่อนเจ้าหนี้อื่นอยู่แล้วตามรายงานการประชุมเจ้าหนี้เอกสารหมาย จ.22 จำเลยที่ 1 กับพวกก็เสนอขอชำระหนี้เจ้าหนี้รายอื่นร้อยละ 78 ของยอดหนี้ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ได้รับชำระจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะลดยอดหนี้ให้เหลือเพียง 5,000,000 บาทเศษเช่นนั้น และหากตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยโจทก์ลดยอดหนี้ให้และเปลี่ยนตัวลูกหนี้เป็นจำเลยที่ 2 จริง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยที่ 1 ก็น่าจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิด แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้กระทำไม่ พยานโจทก์สมเหตุผลมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยโจทก์ลดยอดหนี้ให้และเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2 หากแต่เพิ่มให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดในหนี้เดิมส่วนหนึ่งเพื่อให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้เท่านั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1ตามฟ้องในมูลหนี้เดิมจึงยังไม่ระงับไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ได้หรือไม่เพียงใด และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดเห็นว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 30(2) ไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 แม้ตามสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1 จะยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.5 แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.10 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2527 โดยโจทก์ยอมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดได้เพียงอัตรานี้ แม้ตามสัญญาจำนองจะกำหนดดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 21 ต่อปี แต่หนี้ตามสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ เมื่อต่อมาโจทก์คิดดอกเบี้ยหนี้กู้ยืม ซึ่งเป็นหนี้ประธานได้เพียงอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้สูงกว่าอัตรานี้ได้ ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมายจ.10 จำเลยที่ 1 รับว่ายังค้างชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาทกับดอกเบี้ยจำนวน 623,309 บาท รวม 4,246,622 บาท จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในยอดเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นไป ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปีนั้น ปรากฏตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.19 ลงวันที่ 20 กันยายน 2536 ว่า จำเลยที่ 1ยอมชำระหนี้โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำนวน3,000,000 บาท และให้สัญญาจำนองมีภาระตามสัญญาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะได้ยกอายุความขึ้นปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยค้างชำระ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 จำเลยที่ 1 จึงรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2527 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,246,622 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 3,623,313บาท นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์