คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 652/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่อาจมีสิทธิครอบครองโดยการครอบครองที่ดินมาก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับ เมื่อโจทก์ยอมรับว่าโจทก์เข้ายึดถือที่ดินพิพาทภายหลัง ป.ที่ดินใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบแสดงให้เห็นว่าผู้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์มีสิทธิครอบครองมาก่อน ป.ที่ดินใช้บังคับ จึงจะได้รับความคุ้มครองตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าผู้ซึ่งขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาก่อน ป.ที่ดินใช้บังคับจึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ แม้โจทก์จะเข้ายึดถือเป็นเวลาเกิน 1 ปี และคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาก็เป็นการยึดถือที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ ใช้ยันรัฐได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์ได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้องโต้แย้งสิทธิของโจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่าที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางทองใสทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง จากผู้มีชื่อเมื่อปี 2536 หลังจากนั้นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ที่ดินดังกล่าวไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่อาจมีสิทธิครอบครองโดยการครอบครองที่ดินมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ดังที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไป และให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย” ประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับวันที่ 1 ธันวาคม 2497 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้มีชื่อเมื่อปี 2536 และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาจนถึงปัจจุบันอันเป็นการยอมรับว่าโจทก์เข้ายึดถือที่ดินพิพาทภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบแสดงให้เห็นว่า ผู้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์มีสิทธิครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงจะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 โจทก์นำสืบว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 3 แปลง จากนายทองคูณ นายกองและนายเที่ยงหรือบุญเที่ยงคนละ 1 แปลง นายทองคูณเบิกความว่า พยานซื้อที่ดินพิพาทจากนายกองเมื่อปี 2526 โดยนายกองได้ที่ดินพิพาทแปลงนี้มาจากพ่อตา แต่โจทก์ไม่ได้นำตัวนายกองมาเบิกความเพื่อให้ทราบถึงที่มาของที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวและที่ดินพิพาทแปลงที่นายกองขายให้โจทก์ ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นก็มิได้ยืนยันว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งมีการครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่โจทก์ซื้อจากนายเที่ยงหรือบุญเที่ยงนั้น นายเที่ยงหรือบุญเที่ยงนั้น นายเที่ยงเบิกความว่า พยานได้ที่ดินพิพาทโดยไม่มีหลักฐานและครอบครองอยู่ประมาณ 30 ปี จึงขายให้โจทก์ในปี 2536 แสดงว่านายเที่ยงได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อประมาณปี 2506 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเที่ยงครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ จึงรับฟังไม่ได้ว่านายทองคูณ นายกองและนายเที่ยงซึ่งขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ แม้โจทก์จะเข้ายึดถือเป็นเวลาเกิน 1 ปี และคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ก็เป็นการเข้ายึดถือที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ ใช้ยันรัฐได้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โดยเป็นองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 43 มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 68 (8) ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 การฟ้องคดีของโจทก์จึงมีผลเท่ากับโจทก์อ้างสิทธิครอบครองมาใช้ยันรัฐ ซึ่งโจทก์ไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(อิศเรศ ชัยรัตน์ – สถิตย์ ทาวุฒิ – พงษ์ศักดิ์ วีระเสถียร)

ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด – นายชัยพร ศรีโบราณ
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 – นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

นางวรีพร วัฒนชัยนันท์ โกไศยกานนท์ ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น
นายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น
นางสาวศุภรดา บุตรเนียร นิติกร/ย่อยาว
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจย่อยาว
นางสาวผกาทิพย์ ช่อผกา พิมพ์

Share