คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6515/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินพิพาทเป็นของป. และค. บุคคลทั้งสองขายที่ดินพิพาทให้แก่ส. และส.ได้ทำสัญญาไว้แก่ป. และค. ตกลงให้ป. และค. กับโจทก์ด้วยมีสิทธิซื้อคืนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาต่อมาส. ถึงแก่กรรมตามสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงคำมั่นของส.และโจทก์ไม่ได้สนองรับคำมั่นยังส. ก่อนที่ส.ถึงแก่กรรมและเมื่อส. ถึงแก่กรรมลงโจทก์ก็ทราบแต่ยังตอบรับคำมั่นไปอีกโดยให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของส.ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา360ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา169วรรคสองมาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายดังนี้คำมั่นว่าจะขายที่ดินพิพาทของส. ย่อมไม่มีผลบังคับจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2517 นายสุจริต หิรัญกูลทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้กับนายประเทือง เล่าปิ่นกาญจน์ และนางคำกอง เล่าปิ่นกาญจน์โดยตกลงให้โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่6047 และ 6228 คืนได้ในราคา 60,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเวลาต่อมานายสุจริตได้ถึงแก่กรรม และศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุจริตจำเลยทราบถึงสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2528 แต่จำเลยไม่คัดค้านหรือบอกล้างนิติกรรมและต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2535 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 23 มกราคม 2535แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6047 และ 6228 ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลย ขาดนัด ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของนายประเทืองเล่าปิ่นกาญจน์ และนางคำกอง เล่าปิ่นกาญจน์ บุคคลทั้งสองขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่นายสุจริต หิรัญกูล สามีจำเลยและนายสุจริตได้ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.6 ไว้แก่นายประเทืองและนางคำกองตกลงให้นายประเทือง นางคำกอง กับพวกซึ่งมีโจทก์ด้วยรวม 5 คน มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนได้ในราคา60,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเวลา ภายหลังต่อมานายสุจริตถึงแก่กรรม จำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุจริต โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ที่ให้ผู้ซื้อทั้งห้าคนมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนได้โดยไม่มีกำหนดเวลานั้นเป็นเพียงคำมั่นของนายสุจริตว่าจะให้โจทก์และผู้มีชื่อดังกล่าวซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนได้ในราคา 60,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเวลา มิใช่เป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สนองรับคำมั่นว่าจะทำการซื้อที่พิพาทไปยังนายสุจริตผู้ให้คำมั่นก่อนที่นายสุจริตถึงแก่กรรม และเมื่อนายสุจริตถึงแก่กรรมลง โจทก์ก็ทราบแต่โจทก์ยังตอบรับคำมั่นไปอีกโดยบอกกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ หากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ ดังนี้ คำมั่นจะขายที่ดินพิพาทของนายสุจริตย่อมไม่มีผลบังคับ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุจริตให้ต้องปฏิบัติตาม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน

Share