คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6514/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2544 และการร้องขอให้เพิกถอนการโอนต้องนับถึงวันที่ยื่นคำร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนต่อศาลชั้นต้นวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนแล้วจึงไม่ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ว่า เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ตามที่กำหนดจึงให้คืนเพื่อทำมาใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ถือว่าได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นใช้อำนาจในการตรวจคำคู่ความและมีคำสั่งไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เท่านั้น โดยคำร้องดังกล่าวยังอยู่ที่ศาลและผู้ร้องได้ทำคำร้องมายื่นใหม่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 ภายในกำหนดที่ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องที่ยื่นมาแต่แรกนั้นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องเป็นคดีใหม่ที่ต้องนับอายุความถึงวันดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความ
นิติกรรมการโอนขายรถยนต์พิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้กระทำลงโดยลูกหนี้และผู้คัดค้านได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ และผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายในกำหนด ศาลจึงชอบที่จะเพิกถอนซึ่งนิติกรรมนั้นเสียได้ตามคำร้องของผู้ร้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113, 114 แต่ผู้คัดค้านได้โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนไว้โดยสุจริตแล้วและการเพิกถอนดังกล่าวนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 สิทธิในรถยนต์พิพาทของบุคคลภายนอกจึงได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้ แต่เมื่อไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างผู้คัดค้านกับบุคคลภายนอก ผู้ร้องย่อมไม่สามารถติดตามเอารถยนต์พิพาทกลับมาเป็นกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ศาลฎีกาจึงยกคำขอของผู้ร้องในส่วนที่ให้เพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทและบังคับให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาแทนให้แก่ผู้ร้องตามที่ผู้ร้องมีคำขอมาในท้ายคำร้องแต่เพียงอย่างเดียวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลายเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ลูกหนี้ได้โอนขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ศ-6668 กรุงเทพมหานคร ของลูกหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านในราคา 134,001.45 บาท แล้วผู้คัดค้านได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นิติกรรมซื้อขายรถยนต์ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านดังกล่าวได้กระทำขึ้นภายในเวลา 1 ปี ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย และในระหว่างลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์โดยลูกหนี้กับผู้คัดค้านรู้อยู่ว่าเป็นการถ่ายเททรัพย์สินของลูกหนี้ให้ลดน้อยถอยลงอันเป็นการกระทำให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทั้งสิ้น 114 ราย รวมเป็นเงิน 525,926,989.91 บาท เสียเปรียบเพราะรถยนต์คันดังกล่าวมีราคาประเมิน ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2545 จำนวน 350,000 บาท ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ศ-6668 กรุงเทพมหานคร ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 และ 114 โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคารถยนต์เป็นเงิน 350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนรถยนต์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การโอนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านเป็นการโอนโดยชอบ เป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ทำให้เจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบ รถยนต์มีความชำรุดทรุดโทรมมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท คำร้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวยื่นเกินกว่า 1 ปี คดีขาดอายุความ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ศ-6668 กรุงเทพมหานคร ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ศ-6668 กรุงเทพมหานคร ในภาพใช้การได้ดี หากไม่สามารถคืนรถยนต์ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น ลูกหนี้ขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ศ-6668 กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้คัดค้านในราคา 134,001.45 บาท…
ผู้คัดค้านฎีกาต่อไปว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับคำร้อง การที่ผู้ร้องนำคำร้องมายื่นใหม่ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 ก็ไม่ทำให้คำร้องฉบับแรกมีผลขึ้นมา ผู้ร้องจึงไม่ได้ร้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอน ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนโอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2544 และการร้องขอให้เพิกถอนการโอนต้องนับถึงวันที่ยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 มิใช่นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งคำร้อง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนต่อศาลชั้นต้นวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนแล้ว คดีจึงไม่ขาดอายุความ แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ว่า เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ตามที่กำหนด จึงให้คืนเพื่อทำมาใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ก็ตาม ก็ถือว่าได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแล้วเพียงแต่ศาลชั้นต้นใช้อำนาจในการตรวจคำคู่ความและมีคำสั่งไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เท่านั้น โดยคำร้องดังกล่าวยังอยู่ที่ศาลและผู้ร้องได้ทำคำร้องมายื่นใหม่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 ภายในกำหนดที่ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องแล้วย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องที่ยื่นมาแต่แรกนั้นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องเป็นคดีใหม่ที่ต้องนับอายุความถึงวันดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอย่างไรก็ตาม แม้จะฟังได้ว่านิติกรรมการโอนขายรถยนต์พิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้กระทำลงโดยลูกหนี้และผู้คัดค้านได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ และผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายในกำหนด ศาลจึงชอบที่จะเพิกถอนซึ่งนิติกรรมนั้นเสียได้ตามคำร้องของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113, 114 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่ารถยนต์พิพาทดังกล่าวนั้นผู้คัดค้านได้โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนไว้โดยสุจริตแล้วและการเพิกถอนดังกล่าวนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 สิทธิในรถยนต์พิพาทคันดังกล่าวของบุคคลภายนอกจึงได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้ แต่เมื่อไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างผู้คัดค้านกับบุคคลภายนอกเช่นนี้ผู้ร้องก็ย่อมไม่สามารถติดตามเอารถยนต์พิพาทคันดังกล่าวกลับมาเป็นกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ศาลฎีกาจึงชอบที่จะยกคำขอของผู้ร้องในส่วนที่ให้เพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทดังกล่าวและบังคับให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาแทนให้แก่ผู้ร้องตามที่ผู้ร้องมีคำขอมาให้ท้ายคำร้องแต่เพียงอย่างเดียวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทคันดังกล่าวด้วยนั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของผู้ร้องในส่วนที่ให้เพิกถอนการโอนขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ศ-6668 กรุงเทพมหานคร ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share