คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยทั้งสามโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกและมีอำนาจขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. เจ้ามรดก ขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งหกคนละเท่า ๆ กัน คือคนละหนึ่งในแปดส่วน ตีราคาประมาณคนละ 59,750 บาท รวม 6 คนราคาประมาณ 358,500 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนที่เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามจึงไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งหกฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมฉบับพิพาทของ ก. เจ้ามรดกซึ่งทำขึ้นในวันที่20 กุมภาพันธ์ 2510 มีข้อความระบุว่า “(1) ที่มา 1 แปลงเนื้อที่ 36 ไร่ ส.ค.1 เลขที่ 181 อยู่ที่ตำบลบ้านกล้วยอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ให้แก่จำเลยที่ 1″และแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 181 เอกสารหมายล.3 แผ่นที่ 1 ซึ่งมีชื่อ ก.เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวระบุจำนวนเนื้อที่ดินไว้ 36 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวาเมื่อปรากฏว่าในขณะที่ ก. ทำพินัยกรรมนั้นยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า ก.เจ้ามรดกประสงค์จะยกที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินส.ค.1 เลขที่ 181 ทั้งแปลงให้จำเลยที่ 1 แม้ต่อมาในการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.2517จะปรากฏว่ามีเนื้อที่ 58 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ก็ตามเพราะขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกระบุเนื้อที่ดินทั้งแปลงตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ตีความข้อกำหนดในพินัยกรรมพิพาทว่า ก. มีเจตนายกที่ดินมีโฉนดทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 จึงตรงตามเจตนาของก.ผู้ทำพินัยกรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายกาบ มากอยู่ เจ้ามรดก นายกาบและนางเพิ้ง มากอยู่ มีบุตรด้วยกัน 8 คน คือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3นางทุน มากอยู่ มารดาโจทก์ที่ 5 จำเลยที่ 1 นายกลม มากอยู่บิดาโจทก์ที่ 4 นายชิน มากอยู่ บิดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 และนายชัน มากอยู่ บิดาโจทก์ที่ 6 นางทูน นายกลมและนายชัน ถึงแก่ความตายเมื่อ พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2518 และพ.ศ.2524 ตามลำดับ นายกาบถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่9 เมษายน 2520 ก่อนถึงแก่ความตายนายกาบมีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 10320 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองสุโขทัยจังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 59 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ราคาประมาณ400,000 บาท ที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญ อยู่ที่หมู่ที่ 3ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ราคาประมาณ 40,000 บาท บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 3ตำบลเดียวกัน ยุ้งเก็บข้าวเปลือก จำนวน 2 หลัง รวมราคาประมาณ38,000 บาท ทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าว นายกาบเจ้ามรดกยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่ทายาท ซึ่งโจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละหนึ่งในแปดส่วน ราคาประมาณคนละ 59,750 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมแบ่งให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวคนละหนึ่งในแปดส่วนรวม 6 ส่วน ราคาประมาณ 358,500 บาทหากแบ่งกันไม่ได้ ขอให้ทำการขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งหกตามส่วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10320 และบ้านเลขที่129 นั้น ก่อนนายกาบ มากอยู่ ถึงแก่ความตายนายกาบได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สวนที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญกับยุ้งข้าว นายกาบได้ยกให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่นายกาบจะถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ได้ครอบครองตลอดมา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างให้การว่า ทรัพย์สินตามฟ้องโจทก์เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยนายกาบ มากอยู่ ได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยทั้งสามโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกและมีอำนาจขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายกาบ มากอยู่เจ้ามรดก ขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งหกคนละเท่า ๆ กัน คือคนละหนึ่งในแปดส่วน ตีราคาประมาณคนละ59,750 บาท รวม 6 คน ราคาประมาณ 358,500 บาท ดังนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนที่เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามจึงไม่เกินสองแสนบาทห้ามมิให้โจทก์ทั้งหกฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่โจทก์ทั้งหกฎีกาว่า ทรัพย์มรดกอย่างอื่นที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 คือที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญและยุ้งข้าวจำเลยที่ 1 ครอบครองไว้แทนทายาทอื่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาให้บุคคลอื่นรู้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์มรดกเพื่อตนเองและทายาทอื่นเข้าไปเก็บผลไม้และตัดต้นไม้อันมีเจตนาครอบครองร่วมอยู่ด้วย ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวเพื่อตนเอง ฟ้องโจทก์ทั้งหกจึงยังไม่ขาดอายุความ และในปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองทรัพย์มรดกการอ่านพินัยกรรม และการนำพินัยกรรมมาเปิดเผยพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามมีข้อพิรุธไม่น่ารับฟังนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามกฎหมายมาตราดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่โจทก์ทั้งหกฎีกาในข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2ตีความข้อกำหนดของพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ว่านายกาบ มากอยู่ เจ้ามรดกมีเจตนายกที่ดินมีโฉนดทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการตีความให้เป็นคุณแก่ผู้รับพินัยกรรมและเป็นโทษแก่ทายาทคนอื่นไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะข้อกำหนดพินัยกรรมระบุเนื้อที่ของที่ดินนั้นไว้เพียง 36 ไร่มิใช่กำหนดเนื้อที่ของที่ดินทั้งแปลงจำนวน 58 ไร่เศษนั้น เห็นว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งทำขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2510มีข้อความระบุว่า “(1) ที่นา 1 แปลง เนื้อที่ 36 ไร่ส.ค.1 เลขที่ 181 อยู่ที่ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองสุโขทัยจังหวัดสุโขทัย ให้แก่จำเลยที่ 1” และแบบแจ้งการครอบครองที่ดินส.ค.1 เลขที่ 181 เอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 1 ซึ่งมีชื่อนายกาบเจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวระบุจำเลยเนื้อที่ดินไว้ 36 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา ในขณะที่นายกาบทำพินัยกรรมนั้นยังมิได้ มีการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังกล่าว จึงเห็นได้ว่านายกาบเจ้ามรดกประสงค์จะยกที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 181 ทั้งแปลงให้จำเลยที่ 1 แม้ต่อมาในการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.2517จะปรากฏว่ามีเนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา ก็ตามเพราะขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกระบุเนื้อที่ดินทั้งแปลงตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าว การตีความข้อกำหนดในพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงตรงตามเจตนาของนายกาบผู้ทำพินัยกรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share