คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์แล้วโจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียว จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดให้จำเลยแพ้ แต่จำเลยได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ ดังนี้ศาลอุทธรณ์ต้องยกขึ้นพิจารณาจะถือว่าประเด็นนั้นยุติแล้วไม่ได้
คำฟ้องอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ก็เป็นคำฟ้องและคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา1(3) และ (4)
ในสัญญาระบุชื่อและระบุว่าผู้จัดการร้านนั้นอาจแสดงว่ามีหน้าที่อะไรหรือแสดงว่าทำในฐานะผู้จัดการร้านซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร้านก็ได้ฉะนั้นอีกฝ่ายหนึ่งนำพยานบุคคลมาสืบว่าผู้นั้นเป็นตัวแทนของเจ้าของร้านก็ได้ ไม่เป็นการสืบแก้เอกสาร แต่เป็นการสืบอธิบาย
คนในร้านค้าของจำเลยทำสัญญาขายกระดาษ จำเลยรับว่าผู้นั้นเป็นผู้จัดการร้านค้าของจำเลยซึ่งค้ากระดาษและเครื่องเขียนนั้นมีอำนาจในการค้าในวงเขตของร้านสาขานั้น
ผู้จัดการร้านสาขามีอำนาจทำสัญญาขายสินค้าในร้านนั้นเป็นราคามากๆ ได้โดยไม่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของร้าน
การที่เจ้าของร้านมอบอำนาจให้ผู้จัดการร้านสาขาขายของแต่เฉพาะเงินสดนั้นถ้าผู้ทำสัญญาซื้อของไม่รู้ความข้อนี้เจ้าของร้านจะยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้
คณะกรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคในภาวะคับขันสั่งควบคุมกระดาษและห้ามไม่ให้จำหน่ายแก่ผู้ใดนั้น แต่เจ้าของขายอาจขออนุญาตขายได้นั้น ถ้าผู้ทำสัญญาขายกระดาษไม่ส่งกระดาษให้ผู้ซื้อโดยไม่ขออนุญาตต่อทางการเพื่อขาย ผู้ขายก็อ้างเหตุดังกล่าวนั้นเพื่อให้พ้นความรับผิดตามสัญญาในฐานเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้
ทำสัญญาขายกระดาษให้แก่กรมๆ หนึ่ง แล้วไม่ส่งกระดาษตามสัญญานั้น จะอ้างว่ากระดาษอยู่ในความครอบครองขององค์การรัฐบาลซึ่งต่างกรมมาแก้ตัวความรับผิดสัญญาไม่ได้
การที่ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ ไม่ทำให้หลุดพ้นจากการชำระหนี้
พฤติการณ์ที่แสดงว่าการโต้ตอบกัน ไม่มีการตกลงกันอย่างใหม่
พฤติการณ์ที่แวดล้อมเกี่ยวแก่การพิจารณาว่าจะควรลดเบี้ยปรับตามสัญญาหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาขายกระดาษ ขอให้จำเลยใช้เบี้ยปรับและบังคับให้ส่งกระดาษ 1,500 ริม ตามสัญญา จำเลยต่อสู้หลายประการ

ศาลแพ่งฟังว่า จำเลยเชิดนายฮะกิมเป็นตัวแทนในการทำสัญญาจำเลยจึงต้องรับผิด แต่จำเลยส่งกระดาษให้โจทก์ไม่ได้เป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อที่ศาลแพ่งฟังว่านายฮะกิมเป็นตัวแทนจำเลย จำเลยไม่อุทธรณ์จึงต้องฟังเป็นยุติแล้วฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษาให้จำเลยใช้เบี้ยปรับฐานผิดสัญญาวันละ 50 บาท ตั้งแต่วันผิดสัญญาจนกว่าจะชำระค่าปรับเสร็จ กับให้ส่งกระดาษให้โจทก์ 1,500 ริม ราคาริมละ 12 บาท 50 สตางค์

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยคือ

1. ฎีกาในเรื่องตัวแทนเกี่ยวกับข้อที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าประเด็นยุตินั้น ได้ความว่า ในคำชี้แจงแก้อุทธรณ์ของจำเลยได้เสนอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นในข้อนี้มิชอบ เพราะจำเลยชนะคดีแล้วจะหวังให้จำเลยอุทธรณ์คัดค้านอย่างไรอีก การตั้งประเด็นในศาลอุทธรณ์นั้นคู่ความอาจตั้งได้ทั้งในฟ้องอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์เช่นเดียวกับคำฟ้องและคำให้การในศาลชั้นต้น เพราะคำฟ้องอุทธรณ์ก็เป็นคำฟ้อง และคำแก้อุทธรณ์ก็เป็นคำให้การตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1(3)(4) ผิดกันแต่ว่าในชั้นอุทธรณ์จะตั้งประเด็นใหม่ไม่ได้

สัญญาที่นายฮะกิมทำกับโจทก์ไม่มีระบุว่านายฮะกิมเป็นตัวแทนของจำเลย มีแต่ว่านายฮะกิมผู้จัดการร้านสาขา เอ.อาร์ซาเลบายอาจเป็นการลงตำแหน่งผู้จัดการไว้เพื่อแสดงว่ามีหน้าที่อะไรหรือเพื่อแสดงว่าทำในฐานะผู้จัดการร้านซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยผู้เป็นเจ้าของร้านก็ได้ ฉะนั้น การนำสืบว่า นายฮะกิมเป็นตัวแทนของจำเลยในฐานะการทำสัญญานี้ จึงไม่ต้องห้ามเพราะเป็นการสืบอธิบายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จำเลยรับว่านายฮะกิมเป็นผู้จัดการร้านของจำเลยซึ่งค้ากระดาษและเครื่องเขียนเป็นการรับอยู่ในตัวว่าในการค้าของร้านสาขานั้น นายฮะกิมเป็นตัวแทนของจำเลยมีอำนาจในการค้าภายในวงเขตของร้านสาขานั้น แม้ไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจแต่ก็เป็นการแสดงต่อคนภายนอกว่า นายฮะกิมเป็นตัวแทนของจำเลยในร้านสาขานั้น ที่จำเลยอ้างว่านายฮะกิมได้รับมอบอำนาจให้ขายแก่โจทก์เฉพาะเงินสด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ชัดแจ้งในคำให้การ และไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้ความข้อนี้ ฎีกาข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

2. ข้อที่จำเลยว่าส่งกระดาษให้โจทก์ไม่ได้เพราะเหตุสุดวิสัยศาลฎีกาฟังว่าแม้กระดาษของจำเลยจะถูกคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคสั่งควบคุมและถูกห้ามไม่ให้จำหน่าย จำเลยก็มีช่องขออนุญาตทางการขายให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ ดังเช่นที่ห้างจำเลยขายแก่กรมราชทัณฑ์ แต่จำเลยมิได้ขออนุญาตต่อทางการเลยแสดงว่าไม่ขวนขวายปฏิบัติตามสัญญา จะว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตามมาตรา 219 ไม่ได้ หากเป็นเหตุเท่านี้เป็นเหตุพ้นวิสัย การที่ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระมิทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไปด้วยหรือ ส่วนการกระทำของตัวแทนของจำเลยทำไม่ถูกหรือกระดาษอยู่ในองค์การของรัฐบาล ไม่เป็นข้อแก้ตัว

3. เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้ห้างจำเลยส่งกระดาษภายในวันที่ 12 กันยายน 2485 นายฮะกิม มีหนังสือถึงโจทก์ว่าทางการบังคับซื้อไปหมดขอเลิกสัญญา ผู้แทนโจทก์มีหนังสือตอบว่า ถ้าไม่ส่งภายใน 3 วัน จะซื้อที่อื่นและห้างจำเลยจะต้องรับผิดในราคาที่แพงไปจำเลยไม่ได้ยอมรับตามหนังสือนั้น แต่ขอให้พิจารณาเลิกสัญญาอีกโจทก์ หนังสือให้ส่งกระดาษภายใน 7 วันอีก มิฉะนั้น จะจัดการตามที่เป็น ต่อมาอัยการมีหนังสือให้จำเลยส่งกระดาษหรือให้ใช้ค่าเสียหาย 333,000 บาท ภายใน 5 วัน มิฉะนั้นจะจัดการต่อไปตามกฎหมายไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมรับตามข้อเสนอนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์จำเลยมิได้ตกลงกันใหม่อย่างไร สิทธิและความรับผิดคงเป็นไปตามเดิมและสิทธิของโจทก์ไม่หมดไปตาม มาตรา 380 วรรค 1 แต่กรณีเข้ามาตรา 380 วรรค 2 ตามข้อสัญญามีความว่า ผู้ซื้อมีอำนาจปรับผู้ขายหรือจะซื้อสิ่งของที่อื่นโดยผู้ขายต้องรับผิดในค่าของที่ซื้อตลอดจนพาหนะก็ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นข้อสัญญาเปิดโอกาสให้เลือกเอาทางใดก็ได้ ส่วนข้อที่โจทก์อาจซื้อกระดาษจากโรงงาน กระดาษไทยหรือบริษัทไทยนิยมจะเป็นก็แต่เพียงแต่เหตุบรรเทาเบี้ยปรับตามมาตรา 381 แต่ตามรูปคดีโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยไม่พยายามปฏิบัติตามสัญญาคือไม่ขออนุญาตทางการขายกระดาษให้โจทก์และที่ไม่ขอก็เพราะจำเลยเห็นว่า นายฮะกิมตัวแทนทำสัญญาผิดไปศาลฎีกาจึงเห็นว่าไม่ควรลดเบี้ยปรับ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share