คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6490/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินให้โอกาสโจทก์นำเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆที่จำเป็นไปให้เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์ นับแต่วันที่ 24กรกฎาคม 2523 จนถึงครั้งสุดท้ายวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 เป็นเวลาเกือบ3 ปี โจทก์ขอผัดส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อ้างว่า รวบรวมไม่ครบหรือป่วยและเหตุอื่น รวม 13 ครั้ง และผิดนัดเรื่อยมาพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร จงใจฝ่าฝืนไม่นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามหมายเรียก หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจ ประเมินภาษีอากรของโจทก์ไปตามหลักฐานที่มีอยู่และแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบ โจทก์มีหน้าที่ชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งไป และในกรณีนี้ โจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ การประเมิน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 21.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าการประเมินภาษีของจำเลยที่ 1และที่ 6 ที่มีต่อโจทก์ เป็นการประเมินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ที่ไม่ยอมรับคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์เป็นให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า การประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ตัวแทนของจำเลยที่ 6 ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรและระเบียบข้อบังคับของราชการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน ให้คณะกรรมการพิจารณารับอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายน้ำมัน โดยเช่าสถานีบริการน้ำมันของผู้อื่นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2513 ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2518ถึง 2522 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ไปให้ถ้อยคำประกอบการไต่สวนและส่งมอบบัญชี เอกสารประกอบการลงบัญชี สำเนาหรือต้นขั้วใบเสร็จรับเงินจากกิจการของโจทก์สำหรับปี 2518 ถึง 2522 ให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบในวันที่ 24 กรกฎาคม 2523 ตามเอกสารหมาย ล.1 วันที่ 24 กรกฎาคม2523 โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินได้ให้ถ้อยคำแต่ขอผัดส่งบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไปในวันที่ 5 สิงหาคม 2523 ตามเอกสารหมายล.2 เมื่อถึงวันนัดโจทก์ผิดนัด เจ้าพนักงานประเมินเตือนโจทก์ให้นำเอกสารหลักฐานดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานประเมินในวันที่ 20 สิงหาคม2523 ตามเอกสารหมาย ล.3 วันที่ 21 สิงหาคม 2523 โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมิน และนำหลักฐานการซื้อน้ำมันของโจทก์ในปี 2522มามอบให้ และให้การเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย ล.4 วันที่ 10กุมภาพันธ์ 2524 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือให้โจทก์ไปชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2524 ตามเอกสารหมายล.5 แต่โจทก์ไม่ไปตามนัด วันที่ 6 มีนาคม 2524 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเตือนให้โจทก์ไปพบในวันที่ 13 มีนาคม 2524 ตามเอกสารหมายล.6 วันที่ 23 มีนาคม 2524 โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินและพลัดการให้ถ้อยคำไปวันที่ 20 เมษายน 2524 โดยจะนำหลักฐานต่าง ๆเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ไปให้ตรวจสอบด้วย ตามเอกสารหมาย ล.7วันที่ 20 เมษายน 2524 โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินขอเลื่อนส่งมอบหลักฐานไปวันที่ 29 เมษายน 2524 ตามเอกสารหมาย ล.8 โจทก์ผิดนัดวันที่ 26 มิถุนายน 2524 นางแตงเล็ก สุภาพ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินให้การว่า โจทก์ป่วยไม่สามารถนำเอกสารไปมอบให้ตามนัด โจทก์จะไปให้การเมื่อหายป่วยแล้วตามเอกสารหมาย ล.9 วันที่ 18 สิงหาคม 2525 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือนัดให้โจทก์ไปพบวันที่ 24 สิงหาคม 2525 ตามเอกสารหมาย ล.10วันที่ 30 สิงหาคม 2525 โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินให้การว่ายังรวบรวมเอกสารได้ไม่ครบถ้วนจะนำเอกสารไปมอบในวันที่ 10 กันยายน 2525ตามเอกสารหมาย จ.10 วันที่ 10 กันยายน 2525 โจทก์นำใบสำคัญจ่ายเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าประจำปี 2521 จำนวน 10 ฉบับ ค่าน้ำประปา12 ฉบับ หนังสือชมเชยและใบอนุโมทนาบัตร 4 ฉบับ ไปมอบให้เจ้าพนักงานเพื่อเป็นหลักฐานหักค่าใช้จ่ายและขอผัดส่งเอกสารอื่นไปวันที่ 22 กันยายน 2525 ตามเอกสารหมาย จ.9 วันที่ 6 ตุลาคม 2525โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินให้การว่าตามที่ให้ถ้อยคำไว้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2525 ว่าจะนำหลักฐานเกี่ยวกับกิจการไปส่งมอบนั้นโจทก์ส่งมอบให้ไม่ได้เนื่องจากค้นหาไม่พบขอให้ทางราชการหักค่าใช้จ่ายได้ตามหลักฐานที่มีอยู่ และได้ให้การเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 วันที่ 22พฤศจิกายน 2525 โจทก์นำรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย จ.6 วันที่ 30มีนาคม 2526 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับทราบผลการประเมินในวันที่ 7 เมษายน 2526 ตามเอกสารหมาย จ.15 โจทก์ไปพบตามนัด เจ้าพนักงานประเมินแจ้งผลการประเมินให้โจทก์ทราบโจทก์ขอจดรายการไปตรวจและจะไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ 26เมษายน 2526 ตามเอกสารหมาย ล.11 วันที่ 22 เมษายน 2526 โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินให้การว่าเจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายให้โจทก์น้อยกว่าความเป็นจริง จะนำเอกสารค่าใช้จ่ายตามที่เสียจริงไปให้ตรวจสอบในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ตามเอกสารหมาย ล.12 แต่โจทก์ผิดนัด เอกสารหมาย ล.13 เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีอากรของโจทก์ไปตามหลักฐานที่มีอยู่และแจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์ทราบการประเมินวันที่ 25 พฤษภาคม 2526 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2526 ตามเอกสารหมาย จ.2และจำเลยที่ 5 มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่อาจพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ได้ตามเอกสารหมาย จ.13
ปัญหาที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 21 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง และแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน” ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 19เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีอากรของโจทก์ตามมาตรา 21แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ให้โอกาสโจทก์นำเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆที่จำเป็นแก่การตรวจสอบไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์ นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2523 จนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 เป็นเวลานานเกือบ 3 ปีและตามที่จำเลยนำสืบมาได้ความว่า โจทก์ขอผัดส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ โดยอ้างว่ารวบรวมไม่ครบ หรือป่วยและเหตุอื่น ๆ รวม 13 ครั้งและผิดนัดเรื่อยมา ซึ่งนายอาภรณ์ ปิ่นสุวรรณ พยานโจทก์เองก็เบิกความว่าโจทก์ไปพบนายธีระพงษ์ เขียวเกษม ผู้ตรวจสอบภาษีอากรรายนี้ประมาณ10 ครั้ง และขอผัดผ่อนเนื่องจากไม่ได้นำเอกสารตามหมายเรียกไปให้ตรวจอีกหลายครั้ง ตามเอกสารหมาย ปจ.1 ตามพฤติการณ์จึงฟังได้ว่าโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรจงใจฝ่าฝืน ไม่นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีอากรของโจทก์ไปตามหลักฐานที่มีอยู่ และแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 25พฤษภาคม 2526 โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินค่าภาษีอากรให้แก่จำเลยตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งไป และในกรณีเช่นนี้โจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 21การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นยุติ โจทก์หมดสิทธิโต้แย้งแล้วที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4และที่ 6 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share