คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6484/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยผู้เสียหายยินยอม ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกส่วนในวรรคท้ายที่บัญญัติว่าความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่า 13 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษนั้นหมายความว่า ในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ยังไม่อาจสมรสกัน ต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 และมีผลให้ชายผู้กระทำผิดนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว ก็ย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้เอง โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนถือว่าจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันพรากพาตัวเด็กหญิง อ. อายุ 14 ปีเศษผู้เสียหายไปเสียจากนาง ล. ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยที่ 1 จนสำเร็จความใคร่หลายครั้งโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ไม่ให้หลบหนีเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 310, 317, 83, 91

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ4 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 6 ปี8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กหญิง อ. ผู้เสียหาย อยู่ในความดูแลของนางละม้ายชายเกตุ ซึ่งเป็นยาย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2540เวลาประมาณ 16 นาฬิกา หลังจากเลิกเรียนผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายประพิศหรือฉีหริ่ง จันวนา เพื่อกลับบ้านระหว่างทางจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะแซงแล้วเรียกให้หยุด จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่เบาะหน้าคู่คนขับได้เปิดประตูรถแล้วดึงมือผู้เสียหายขึ้นไปนั่งเบาะหลังซึ่งมีจำเลยที่ 1 กับชายอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 3ขับรถไปในอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง คืนนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกพาผู้เสียหายไปค้างคืนที่บังกะโลแห่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 พักห้องเดียวกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายยินยอม รุ่งเช้าจำเลยทั้งสามกับพวกพาผู้เสียหายไปส่งที่บ้านนายสุทิน ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งอยู่ที่ตำบลคลองเฉลิมอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ในตอนเย็นจำเลยทั้งสามกลับมารับผู้เสียหายไปส่งที่บ้านของนางเมาะไม่ทราบนามสกุล หลังจากนางละม้ายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว ได้ขอให้นายอุทัย อักษรเนียม ผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุออกตามหาผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2540 เวลา 16 นาฬิกา นายอุทัยจึงพาผู้เสียหายกลับบ้าน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับโทษในความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายยินยอมย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก แต่ในมาตรา 277 วรรคท้าย บัญญัติว่าความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ มีความหมายว่า ในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ ยังไม่อาจที่จะสมรสกัน หากจะสมรสกันต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448และมีผลทำให้ชายผู้กระทำความผิดในคดีอาญานั้นไม่ต้องรับโทษ แต่กรณีของจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกันนั้นทั้งจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้เองอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ย่อมได้รับผลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคท้าย ด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น

ฎีกาของจำเลยทั้งสามอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับยายคือนางละม้าย ชายเกตุ ตั้งแต่ผู้เสียหายอายุ 4 เดือน เนื่องจากบิดามารดาแยกทางกันนางละม้ายจึงเป็นผู้ดูแลผู้เสียหาย การที่จำเลยทั้งสามนั่งรถยนต์กระบะมาด้วยกันโดยจำเลยที่ 3 เป็นคนขับแซงรถจักรยานยนต์ซึ่งผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายแล้วเรียกให้หยุดจากนั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่ที่เบาะหน้าคู่กับคนขับได้เปิดประตูรถแล้วดึงมือผู้เสียหายขึ้นรถไปพักค้างคืนที่บังกะโล จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ในเช้าวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามพาผู้เสียหายไปบ้านนายสุทิน และในตอนเย็นพาไปบ้านนางเมาะเช่นนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานนี้ตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายรักใคร่ชอบพอกันมาก่อน ได้ตกลงว่าจะอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีภรรยามาก่อน หลังเกิดเหตุได้อยู่กินเป็นสามีภรรยาและจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานนี้นั้น เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้พรากเด็กเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม เท่านั้น แต่ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 กลายเป็นการพรากเด็กโดยมีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 แสดงว่าบุคคลทั้งสองประสงค์อยู่กินฉันสามีภรรยา การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าวให้จำคุก4 ปี และไม่รอการลงโทษนั้น หนักเกินไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงควรได้รับโทษในลักษณะเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสามให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก สำหรับความผิดของจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ3 ปี และปรับ 9,000 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี และปรับ 6,000 บาท เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้เสียหายแล้ว คดีมีเหตุปราณีสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสามมีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสามมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสามฟัง โดยให้จำเลยทั้งสามไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติภายในกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share