คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6477/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเรื่องความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/57 ในการก่อสร้างทางขึ้น-ลง เพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครผิดไปจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน เป็นอุทธรณ์ใน ข้อกฎหมายไม่ใช่เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่เพื่อไม่ให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่
ตามสัญญาจัดหาประโยชน์ในเขตทางพิเศษระบุว่าถ้าผู้ร้องสอดมีความจำเป็นตามนโยบายแล้วผู้ร้องสอด มีสิทธิบอกเลิกการเช่าได้ และตามสัญญาเช่าช่วงระบุว่าถ้ามีความจำเป็นตามนโยบายของผู้ร้องสอดแล้ว โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการเช่าได้ การบอกเลิกการเช่าก่อนครบกำหนดตามสัญญาทั้งสองฉบับจึงขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ร้องสอด และคำว่า “จำเป็น” ตามพจนานุกรมหมายความว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำ ขาดไม่ได้ กรณีจึงหมายความว่าผู้ร้องสอดต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/57 ในการก่อสร้าง จะขาดพื้นที่ส่วนนี้เสียมิได้ แต่ในขณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2537 เห็นชอบตามโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น – ลง เพิ่มเติมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขออนุมัตินั้น ยังไม่มีการออกแบบรายละเอียดทางขึ้น – ลง และกำหนดจุดก่อสร้างที่แน่ชัด เป็นเพียงระบุสถานที่ ก่อสร้างไว้กว้าง ๆ ว่าเป็นบริเวณถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และทางแยกต่างระดับคลองเตย ซึ่งในส่วนของทางแยกต่างระดับคลองเตยที่โจทก์เช่าจากผู้ร้องสอดก็มีพื้นที่ถึง 8,000 ตารางวา ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติเพียงหลักและ วิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดำเนินการอันตรงกับความหมายของคำว่า “นโยบาย” ตามพจนานุกรมเท่านั้น ยังไม่อาจระบุรายละเอียดที่แน่ชัดได้ว่าผู้ร้องสอดต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/57 ในการก่อสร้างหรือไม่ และก่อนที่ผู้ร้องสอดจะบอกเลิกการเช่าบางส่วนแก่โจทก์ก็ยังปรากฏอีกว่าตำแหน่งเสาของโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น – ลง เพิ่มเติม ไม่ได้ใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/57 อีกทั้งทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมนั้นได้ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้มาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี แล้วโดยตึกแถวเลขที่ 98/57 ก็ยังคงตั้งอยู่ ดังนั้นแม้จะไม่ใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/57 ผู้ร้องสอดก็ยังคงก่อสร้างทางขึ้น – ลง เพิ่มเติมได้ เมื่อผู้ร้องสอดไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/57 ในการก่อสร้าง จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ในส่วนพื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/57 แก่โจทก์ และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นการทางพิเศษแห่งประเทศไทยยื่นคำร้องสอดและแก้ไขคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๒ – ๘๔ ซึ่งผู้ร้องสอดทำสัญญาให้โจทก์เช่าและผู้ร้องสอดอนุญาตให้โจทก์นำไปให้เช่าช่วงได้ จำเลยเช่าช่วงตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ จากโจทก์ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ผู้ร้องสอดมีหนังสือบอกเลิกการเช่า บางส่วนแก่โจทก์ โจทก์ส่งมอบตึกแถวคืนให้ผู้ร้องสอดได้ไม่ครบซึ่งรวมทั้งตึกแถวที่จำเลยเช่าช่วงด้วย ผู้ร้องสอด จำเป็นต้องใช้พื้นที่และตึกแถวเพื่อประโยชน์ของรัฐ การกระทำของโจทก์และจำเลยทำให้ผู้ร้องสอดเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
โจทก์ไม่ให้การแก้คำร้องสอด
จำเลยให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดไม่จำเป็นต้องใช้ตึกแถวที่จำเลยเช่าในการก่อสร้างทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานคร ทางด่วนดังกล่าวเปิดให้บริการแก่ประชาชนมาหลายเดือนแล้ว ตึกแถวที่จำเลยเช่า ไม่เกี่ยวข้องและไม่เป็นอุปสรรคแก่การก่อสร้าง ขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องสอด โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เช่าที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ ๙๘/๒ – ๘๒ ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร (ซึ่งรวมถึงตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ด้วย) จากผู้ร้องสอดเป็นเวลา ๑๘ ปี นับแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๓๑ ถึงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ ผู้ร้องสอดอนุญาตให้โจทก์นำตึกแถวไปให้เช่าช่วงได้ จำเลย เช่าช่วงตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ จากโจทก์เป็นเวลา ๑๕ ปี ๖ เดือน นับแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๗ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในโครงการแก้ไขทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครของผู้ร้องสอด วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ผู้ร้องสอดบอกเลิกการเช่าบางส่วนซึ่งรวมถึงตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ด้วยแก่โจทก์เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างในโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานคร วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่จำเลย ทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้มาเป็นเวลาประมาณ ๑ ปีแล้ว โดยไม่ได้ใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ในการก่อสร้าง และตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ก็ยังคงอยู่ ณ ที่เดิม
มีปัญหาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเรื่องความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ในการก่อสร้างทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครผิดไปจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การอุทธรณ์ว่าศาลฟังข้อเท็จจริงผิดหรือคลาดเคลื่อนต่อหลักฐานในสำนวนเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์ว่าผู้ร้องสอดไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่
ในปัญหาว่าผู้ร้องสอดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจัดหาประโยชน์ในเขตทางพิเศษหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาจัดหาประโยชน์ในเขตทางพิเศษระบุว่า ถ้าผู้ร้องสอดมีความจำเป็นตามนโยบายแล้วผู้ร้องสอดมีสิทธิบอกเลิกการเช่าได้ และตามสัญญาเช่าช่วงระบุว่าถ้ามีความจำเป็นตามนโยบายของ ผู้ร้องสอดแล้วโจทก์มีสิทธิบอกเลิกการเช่าได้ การบอกเลิกการเช่าก่อนครบกำหนดตามสัญญาทั้งสองฉบับจึงขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์โดยระบุว่าผู้ร้องสอดมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่โจทก์เช่าเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานคร โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยระบุว่าผู้ร้องสอดมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์คำว่า “จำเป็น” ตามพจนานุกรมหมายความว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำ ขาดไม่ได้ กรณีจึงหมายความว่าผู้ร้องสอดต้องใช้ พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ในการก่อสร้าง จะขาดพื้นที่ส่วนนี้เสียมิได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วกลับปรากฏว่าในขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ผู้ร้องสอดดำเนินโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครในบริเวณถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิทและทางแยกต่างระดับคลองเตย (ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ อยู่ในบริเวณนี้) จนถึงขณะที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๗ เห็นชอบตามโครงการ ที่ขออนุมัตินั้น ยังไม่มีการออกแบบรายละเอียดทางขึ้น – ลง และกำหนดจุดก่อสร้างที่แน่ชัด เป็นเพียงระบุสถานที่ ก่อสร้างไว้กว้าง ๆ ว่าเป็นบริเวณถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และทางแยกต่างระดับคลองเตย ซึ่งในส่วนของทางแยกต่างระดับคลองเตยที่โจทก์เช่าจากผู้ร้องสอดก็มีพื้นที่ถึง ๘,๐๐๐ ตารางวา ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติเพียงหลักและ วิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดำเนินการอันตรงกับความหมายของคำว่า “นโยบาย” ตามพจนานุกรมเท่านั้น ยังไม่อาจระบุรายละเอียดที่แน่ชัดได้ว่าผู้ร้องสอดต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ในการก่อสร้างหรือไม่ และยังปรากฏอีกว่าตำแหน่งเสาของโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครไม่ได้ใช้พื้นที่ตึกแถว เลขที่ ๙๘/๕๗ อีกทั้งทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครนั้นได้ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้มาเป็นเวลาประมาณ ๑ ปีแล้วในขณะที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ก็ยังคงตั้งอยู่ ดังนั้นแม้จะไม่ใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ผู้ร้องสอดก็ยังคงก่อสร้างทางขึ้น – ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครได้ ผู้ร้องสอดไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ ในการก่อสร้าง จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาในส่วนพื้นที่ตึกแถวเลขที่ ๙๘/๕๗ แก่โจทก์ และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและยกคำร้องสอด ให้โจทก์และผู้ร้องสอดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม ๖,๐๐๐ บาท .

Share