คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6443/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลโดยศาลจะคำนึงถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบของคดีในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น ไม่ต้องคำนึงในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 600 และเลขที่ 83ให้แก่โจทก์ในราคา 390,000 บาท โจทก์ได้วางมัดจำให้จำเลยไว้150,000 บาท จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 600ออกมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแล้วมอบให้โจทก์ยึดถือไว้และตกลงจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายในวันที่23 กุมภาพันธ์ 2534 หากผิดสัญญาจำเลยยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 390,000 บาท ครั้นถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาขอบังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 600ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ให้โจทก์หากจำเลยไม่ไปดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 334,435 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน 2 แปลง แต่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนให้ต้องชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเมื่อล่วงเลยวันนัดจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาโจทก์และจำเลยตกลงเลื่อนไปเป็นวันที่25 มีนาคม 2534 ครั้นถึงวันนัดโจทก์ไม่นำเงินราคาที่ดินส่วนที่เหลือไปชำระให้จำเลย จำเลยจึงไม่ยอมโอนที่ดิน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเงินมัดจำนั้นโจทก์เอาคืนไป 20,000 บาท คงเหลืออยู่ 130,000 บาทโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิยึดถือ น.ส.3 ก. เลขที่ 600 ของจำเลยต้องคืนให้จำเลย และที่ดินแปลงนี้ราคา 300,000 บาท หากจำเลยขายที่ดินแปลงนี้แล้วนำเงินไปฝากธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ยร้อยละ12.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ส่งคืน น.ส.3 ก.เลขที่ 600 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีให้จำเลย ให้โจทก์ชำระเงินในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ในต้นเงิน300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะคืน น.ส.3 ก. ดังกล่าวให้จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามวันเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเอง จำเลยไม่เคยนัดโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินในวันที่ 25 มีนาคม 2534 โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเอา น.ส.3 ก.คืนจากโจทก์ จำเลยไม่เคยทวงถามให้โจทก์คืน น.ส.3 ก. จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันสองแปลงโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนขายให้เพียงแปลงเดียวศาลชั้นต้นให้รอสั่งในวันชี้สองสถาน
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินอีกแปลงหนึ่งที่จำเลยนำมาทำสัญญาจะซื้อขายให้โจทก์นั้นเป็นที่ดินของบุคคลอื่น มิใช่ของจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยโอนที่ดินเฉพาะแปลงของจำเลยให้โจทก์ได้
ในวันชี้สองสถาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง
จำเลยแถลงคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยก็ตกไปโดยปริยาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้จำเลยคัดค้านไม่ยอมให้โจทก์ถอนฟ้องก็ตาม แต่การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล คดีนี้จำเลยต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาแม้จำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์คืน น.ส.3 ก. ที่โจทก์ยึดไว้และยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ตาม เมื่อคดียังไม่มีการสืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายและยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว หากศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนี้ไป ก็หาทำให้จำเลยต้องเสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่าการที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงตกไปทำให้จำเลยต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตั้งประเด็นฟ้องเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่งต่างหากนั้น เห็นว่า การใช้ดุลพินิจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น ศาลจะคำนึงถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบของคดีในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น ไม่ต้องคำนึงในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องแย้งแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share