คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับว่าในการขายหุ้นหรือทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินให้บุคคลทั่วไปนั้น จำเลยตกลงทยอยซื้อคืนโดยแบ่งเงินค่าหุ้นหรือสัญญาซื้อขายบ้านออกเป็น 24 งวด ให้ประชาชนขายคืนจำเลยเดือนละงวด จำเลยจะให้กำไรเป็นเงิน 2 เท่าของจำนวนที่ขายคืนในแต่ละงวดตลอดไปจนครบ 24 งวด จำเลยดำเนินกิจการดังกล่าว1 ปีเศษแล้วหยุดกิจการเพราะถูกจับ มีประชาชนทำสัญญากับจำเลย5,850 ราย เป็นเงินรวม 601,790,000 บาท จำเลยซื้อคืนจากประชาชนจำนวน 149,873,500 บาท เหลือเงินที่จำเลยยังมิได้ซื้อคืน441,916,500 บาท ดังนี้ การที่ประชาชนซื้อหุ้นหรือทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินกับจำเลยนั้นประชาชนมุ่งที่จะขายคืนเป็นรายเดือนเพื่อที่จะได้กำไรเป็น 2 เท่าของจำนวนที่ขายคืนโดยไม่ต้องร่วมในการขาดทุนด้วย จึงหาใช่เป็นการซื้อหุ้นของบริษัทเพื่อร่วมลงทุนในกิจการด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นในรูปของเงินปันผลซึ่งจะต้องร่วมกันในการขาดทุนด้วยดังบริษัททั่วไปหรือการทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินที่ผู้ซื้อมุ่งจะได้บ้านและที่ดินจากจำเลยทั้งสองไม่การกระทำของจำเลยเป็นการรับเงินโดยผู้กู้ยืมเงินจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน อันเป็นการกู้ยืมเงินตามความหมายในพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เมื่อจำเลยเป็นหนี้จำนวน 451,916,500 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องใช้คืนประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และจำเลยมีสินทรัพย์หักแล้วต่ำกว่าหนี้สินถึง 429,814,215.60 บาท จำเลยจึงมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวศาลชอบที่จะสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำการกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปโดยกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ออกหลักฐานการกู้ยืมเงินในรูปหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในรูปหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดในรูปหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัด(หุ้นถาวร) และในรูปใบหุ้นของจำเลยที่ 1 มีประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน5,850 ราย รวมเงินที่ให้กู้ยืมทั้งสิ้น 601,790,000 บาท จำเลยทั้งสองได้นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวบางส่วนจ่ายหมุนเวียนเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน5,850 ราย ได้รับต้นเงินคืนจากจำเลยทั้งสองแล้ว 149,873,500 บาทจำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินอีก 451,916,500 บาทนอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้ภาษีอากรค้างจ่ายกรมสรรพากร22,674,541.33 บาท หนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด 170,579.45 บาทหนี้ผู้เช่าซื้อบ้านและที่ดิน 28,524,416.25 บาท หนี้ผู้รับเหมาที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน 9,005,000 บาท หนี้ผู้รับเหมารายที่ยื่นฟ้องต่อศาล 18,221,917 บาท หนี้ธนาคารทหารไทย จำกัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล 139,925,875.10 บาท หนี้ผู้เช่าซื้อบ้านตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล 93,893 บาทรวมหนี้สินทั้งสิ้น 670,532,722.13 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 240,718,506.53 บาท ซึ่งน้อยกว่าหนี้สิน429,814,215.60 บาท หนี้สินดังกล่าวกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนจำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินได้ โจกท์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527แล้ว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองไว้เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ประกอบด้วยพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 10
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการขายหุ้นหรือทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินให้บุคคลทั่วไปนั้น จำเลยทั้งสองรับว่าได้ตกลงทยอยซื้อคืนโดยให้แบ่งเงินค่าหุ้นหรือสัญญาซื้อขายบ้านออกเป็น24 งวด ให้ประชาชนขายคืนจำเลยทั้งสองเดือนละงวด จำเลยทั้งสองจะให้กำไรเป็นเงิน 2 เท่าของจำนวนที่ขายคืนในแต่ละงวดตลอดไปจนครบ 24 งวด จำเลยทั้งสองดำเนินกิจการดังกล่าวตั้งแต่วันที่5 ตุลาคม 2528 จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2530 ก็หยุดกิจการเพราะถูกจับมีประชาชนทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง รวม 5,850 ราย เป็นเงินรวม601,790,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองซื้อคืนจากประชาชนแล้ว149,873,500 บาท เหลือเงินที่จำเลยทั้งสองยังมิได้ซื้อคืนอีก451,916,500 บาท จะเห็นได้ว่าที่ประชาชนซื้อหุ้นหรือทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินกับจำเลยทั้งสองต่างมุ่งที่จะขายคืนเป็นรายเดือน เพื่อที่จะได้กำไรเป็น 2 เท่าของจำนวนที่ขายคืนโดยไม่ต้องร่วมในการขาดทุนด้วย หาใช่เป็นการซื้อหุ้นของบริษัทเพื่อร่วมลงทุนในกิจการด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นในรูปของเงินปันผลซึ่งจะต้องร่วมกันในการขาดทุนด้วยดังบริษัททั่วไป หรือการทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินที่ผู้ซื้อมุ่งจะได้บ้านและที่ดินจากจำเลยทั้งสองไม่ การขายหุ้นและทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของจำเลยทั้งสองดังกล่าวก็คือการรับเงินโดยผู้กู้ยืมเงินจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน อันเป็นการกู้ยืมเงินตามความหมายในพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 นั่นเอง เงินจำนวน 451,916,500 บาท จึงเป็นหนี้เงินกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองจะต้องใช้คืนประชาชนผู้กู้ยืมเงินที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองระบุว่ามีผู้แสดงความจำนงให้เรียกคืนเพียง 148 ราย เป็นเงิน 22,000,000 บาทฉะนั้นผู้ที่ไม่แสดงความจำนงให้โจทก์เรียกเงินคืน จึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ หนี้ประชาชนถ้ามีจริงก็ไม่เกิน 22,000,000 บาทมิใช่ 451,916,500 บาท นั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินจำนวน 5,850 ราย เป็นเงิน 451,916,500 บาทดังวินิจฉัยข้างต้น จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามดังที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 10บัญญัติไว้ จึงไม่ต้องคำนึงว่ามีเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินได้แสดงความจำนงให้เรียกเงินคืนกี่รายหรือไม่ ส่วนที่โจทก์ในคดีอาญาระบุว่ามีผู้แสดงความจำนงให้เรียกเงินคืน 148 ราย คิดเป็นเงิน22,000,000 บาท นั้น เป็นเรื่องที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 9 ให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนแทนผู้เสียหายในคดีอาญาหาได้เกี่ยวกับการฟ้องคดีล้มละลายในคดีนี้ไม่ คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินรวม670,532,722.13 บาท
ในเรื่องสินทรัพย์คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์ตามที่ฝ่ายโจทก์ประเมินไว้ หักแล้วจึงต่ำกว่าหนี้สินถึง 429,814,215.60บาท จำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินได้ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อพิจารณาได้ความจริงดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share