แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 บัญญัติว่า นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้ ซึ่งคำว่า หนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมหมายถึงหนี้ทุกประเภทโดยไม่ต้องคำนึงถึงเจ้าหนี้ว่าเป็นผู้ใด และเข้ามาขอรับชำระหนี้ตามพระราชกำหนดนี้ได้โดยวิธีใด ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการจึงตกอยู่ในบังคับของบทกฎหมายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541
แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีแรงงานไม่ใช่คดีล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีและมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๒๘๘,๗๕๐ บาท ค่าชดเชยจ่ายจำนวน ๘๖๖,๒๕๐ บาท เงินโบนัสจำนวน ๒๐๗,๙๐๐ บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน ๘๖๖,๒๕๐ บาท และค่าเช่าบ้านกับค่าอำนวยความสะดวกภายในบ้านจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๘๖๖,๒๕๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๒๘๘,๗๕๐ บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน ๘๖๖,๒๕๐ บาท เงินโบนัสจำนวน ๒๐๗,๙๐๐ บาท และค่าเช่าบ้านจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ กำหนดว่า นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา ๓๐ ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้ ซึ่งคำว่าหนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมหมายถึงหนี้ทุกประเภทโดยไม่ต้องคำนึงถึงเจ้าหนี้ว่าเป็นผู้ใด และเข้ามาขอรับชำระหนี้ตามพระราชกำหนดนี้ได้โดยวิธีใด ดังนี้โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยจึงตกอยู่ในบังคับของบทกฎหมายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑
แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พ.ร.ก.ปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา ๒๖ โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้น เมื่อคดีนี้ไม่ใช่คดีล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีและมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.