แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นเจ้าของเครื่องหมาย การค้าคำว่า REYNOLDS ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2520 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 รายการสินค้า เครื่องเขียน เครื่องมือวาดเขียน ปากกาลูกลื่น ปากกาปากอ่อน ปากกาหมึกซึม ไส้ปากกา หมึกบรรจุ ในหลอด ยาลบหมึก น้ำหมึก และที่เสียบปากกา โจทก์ที่ 1 ตกลงให้บริษัทโจทก์ที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายไทยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่มีเงื่อนไขว่า โจทก์ที่ 2 จะต้องซื้อปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นจากโจทก์ที่ 1 ตามจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ การอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าตามสัญญาผู้ใช้ (User Agreement) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2539 ไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 68 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในข้อหาละเมิดเพราะจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายสินค้าปากกาลูกลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนคำว่า REYNOLDS ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ได้ คงมีเฉพาะโจทก์ที่ 1 เท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือโจทก์ที่ 2 ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านการตลาดของโจทก์ที่ 2 ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายก็ปรากฏว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ตามคำฟ้องก็ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องอย่างชัดเจนว่าค่าโฆษณานั้น โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหายในการที่ต้องจ่ายค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายอันเนื่องมาจากยอดขายสินค้าปากกา REYNOLDS ลดลงเพราะการละเมิดของจำเลยทั้งสอง
แม้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า REYNOLDS สำหรับสินค้าปากกาลูกลื่นที่ได้จดทะเบียนไว้และการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายปากกาลูกลื่น REYNOLDS อันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิ แต่ผู้เดียวของโจทก์ที่ 1 ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายว่า โจทก์ต้องจัดการทำการโฆษณาเพื่อแก้ไขภาพพจน์ต่อผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่นยี่ห้อ REYNOLDS ปลอมที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าโฆษณาไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ถึงปลายปี 2541 เป็นเงินจำนวน 3,916,881.92 บาท รวมความเสียหายที่โจทก์ประเมินไว้เนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองนำ ปากกาลูกลื่นที่มีเครื่องหมายการค้า “REYNOLDS” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของ โจทก์ที่ 1 ออกจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 9,000,000 บาท ทั้งนี้ ยังมิได้รวมถึงค่านิยมที่ผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่น REYNOLDS ของโจทก์ที่เสื่อมไปเพราะการใช้ของปลอมที่มีคุณภาพต่ำ แต่โจทก์ทั้งสองขอเรียก ค่าเสียหายสำหรับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 3,300,000 บาท ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่หาได้เรียกค่าเสียหายสำหรับค่านิยมหรือความมีชื่อเสียง ของสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไม่ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ จากจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ที่ศาลจะพิพากษาให้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า REYNOLDS ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๐ ตามคำขอเลขที่ ๙๖๖๑๙ ทะเบียนเลขที่ ๗๑๗๖๖ สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๓๙ รายการสินค้า เครื่องเขียน เครื่องมือวาดเขียน ปากกาลูกลื่น ปากกาปากอ่อน ปากกาหมึกซึม ไส้ปากกา หมึกบรรจุในหลอด ยาลบหมึก น้ำหมึก และที่เสียบปากกา ตามหนังสือรับรองรายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ. ๕ โจทก์ที่ ๑ ตกลงให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่มีเงื่อนไขว่า โจทก์ที่ ๒ จะต้องซื้อปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นจากโจทก์ที่ ๑ ตามจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ การอนุญาตให้โจทก์ที่ ๒ ใช้เครื่องหมายการค้าตามสัญญาผู้ใช้ (User Agreement) เอกสารหมาย จ. ๘ ไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน เครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๘ วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒ โจทก์ที่ ๒ จึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๔๐ มีสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ ออกจำหน่าย ต่อมามีการจับกุมจำเลยที่ ๒ และยึดปากกาลูกลื่นที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมได้จำนวน ๒๔๗,๕๐๐ ด้าม จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลดังกล่าวได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ๗๔๘/๒๕๔๑ เอกสารหมาย จ. ๖
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามคำฟ้องหรือไม่เพียงใด โจทก์มีนายสุเมธ จงรักษ์ลิขิต ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ ๑ และนายเกษม บูญเลิศวณิชย์ ลูกจ้าง โจทก์ที่ ๒ มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ ๑ อนุญาตให้โจทก์ที่ ๒ เป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า REYNOLDS ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่มีเงื่อนไขกำหนดให้โจทก์ที่ ๒ ซื้อปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นในอัตราขั้นต่ำไว้สำหรับปลายปากกาลูกลื่นจำนวน ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ หน่วย และหมึกปากกาลูกลื่น ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม นับตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๙ อันเป็นวันทำสัญญาถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๙ กับให้โจทก์ที่ ๒ ซื้อปลายปากกาลูกลื่นจำนวน ๖๕,๐๐๐,๐๐๐ หน่วย และหมึกปากกาลูกลื่น ๒๖,๐๐๐ กิโลกรัม ในระหว่างปี ๒๕๔๐ ตามสัญญาผู้ใช้ (User Agreement) เอกสารหมาย จ. ๘ ผลประโยชน์ที่โจทก์ที่ ๑ ได้รับจากการให้โจทก์ที่ ๒ เป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ คือการที่โจทก์ที่ ๑ ขายอุปกรณ์ของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า REYNOLDS คือปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นจำนวนที่แน่นอน และไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์ที่ ๑ เลยว่าการที่จำเลยทั้งสองขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ นั้น เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๒ ไม่สามารถซื้อปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นของโจทก์ที่ ๑ ได้ตามจำนวนที่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ. ๘ หรือโจทก์ที่ ๒ ได้ซื้อปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นดังกล่าวลดน้อยลงกว่าจำนวนขั้นต่ำที่โจทก์ที่ ๒ จะต้องซื้อตามข้อตกลงในสัญญาเอกสารหมาย จ. ๘ อันเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ต้องขาดประโยชน์แต่อย่างใดไม่ และการที่โจทก์ที่ ๒ อ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ที่ ๒ จำหน่ายสินค้าปากกาลูกลื่น REYNOLDS ในประเทศไทยได้ลดลงเนื่องจากมีการจำหน่ายปากกาลูกลื่นซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น ก็เป็นความเสียหาย ที่โจทก์ที่ ๒ อ้างว่าตนได้รับ หาได้มีผลเกี่ยวข้องถึงโจทก์ที่ ๑ หรือมีผลที่ทำให้รายได้ที่โจทก์ที่ ๑ จะพึงได้จากโจทก์ที่ ๒ ลดลงแต่อย่างใดไม่ เพราะโจทก์ที่ ๑ มิได้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าปากกา REYNOLDS ในประเทศไทย แต่ได้อนุญาตให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ส่วนที่โจทก์ที่ ๑ นำสืบในทำนองว่า โจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ ต้องร่วมกันทุ่มโฆษณาและส่งเสริมการขายมากยิ่งขึ้นเนื่องจากยอดขายลดลงนั้น เห็นว่า ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ. ๘ ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ ๑ มีหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือโจทก์ที่ ๒ ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านการตลาดของโจทก์ที่ ๒ ในประเทศไทยแต่อย่างใด ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายตามเอกสารหมาย จ. ๑๐ และ จ. ๑๑ ก็ปรากฏว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๑ ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองก็ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องอย่างชัดเจนว่าค่าโฆษณานั้น โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ โจทก์ที่ ๑ จึงไม่ได้รับความเสียหายในการที่ต้องจ่ายค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายอันเนื่องมาจากยอดขายสินค้าปากกา REYNOLDS ลดลงเพราะการละเมิดของจำเลยทั้งสอง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในค่าเสียหายสำหรับค่านิยมของสินค้า หรือความมีชื่อเสียงของสินค้าและเครื่องหมายการค้า (Goodwill) ของโจทก์ที่ ๑ หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ที่ ๑ จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในราชอาณาจักรสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๓๙ รายการสินค้า เครื่องเขียน ปากกาลูกลื่น และเครื่องเขียนอื่น ๆ เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเครื่องหมายการค้าคำว่า REYNOLDS สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และการที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายปากกาลูกลื่น REYNOLDS อันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๔ ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายว่า โจทก์ต้องจัดการทำการโฆษณาเพื่อแก้ไขภาพพจน์ต่อผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่นยี่ห้อ REYNOLDS ปลอมที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งโจทก์ที่ ๒ ต้องเสียค่าโฆษณาไปในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ ถึงปลายปี ๒๕๔๑ เป็นจำนวนเงิน ๓,๙๑๖,๘๘๑.๙๒ บาท รวมความเสียหายที่โจทก์ประเมินไว้เนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองนำปากกาลูกลื่นที่มีเครื่องหมายการค้า “REYNOLDS” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ ออกจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ ยังมิได้รวมถึงค่านิยมที่ผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่น REYNOLDS ของโจทก์ที่เสื่อมไปเพราะการใช้ของปลอมที่มีคุณภาพต่ำ แต่โจทก์ทั้งสองขอเรียกค่าเสียหายสำหรับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่หาได้เรียกค่าเสียหายสำหรับค่านิยมหรือความมีชื่อเสียงของสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ แต่อย่างใดไม่ แสดงว่าโจทก์ที่ ๑ มิได้ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ที่ศาลจะพิพากษาให้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.