คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุเขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1675 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 1 ที่ระบุว่า”ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทายาทของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว” นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพ การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” แม้จะไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความดังกล่าว เท่านั้นส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุเปลื้องสีสมหรือศรีสม ผู้ตายซึ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 ด้วยสาเหตุอุบัติเหตุรถชน ก่อนมรณภาพผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บรรดาทายาทมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนายฤชา ศรีสม และนางลำจวน มั่งคั่ง ซึ่งไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

นางลำจวน มั่งคั่ง ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุเปลื้อง เป็นทายาทมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้องประสงค์จะขอจัดการทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้องร่วมกับนายฤชา ศรีสม และนายเกษม ทองเพชร

วัดเขาบันไดอิฐยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องและนางลำจวนไม่ใช่ทายาทตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้องตกเป็นของวัดเขาบันไดอิฐ เพราะเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุเปลื้องได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศและขณะมรณภาพมีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดเขาบันไดอิฐพินัยกรรมและข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะเนื่องจากมีการปลอมลายมือของพระภิกษุเปลื้องในพินัยกรรมข้อ 1 ที่มีข้อความว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” โดยใช้ปากกาคนละสี ทั้งไม่มีลายมือชื่อพระภิกษุเปลื้องลงชื่อกำกับไว้ ผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้อง ประสงค์จะขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเปลื้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ และยกคำร้องขอของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของนางลำจวน และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเปลื้อง

ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องและนางลำจวน มั่งคั่ง ตกลงให้นางลำจวนและนายฤชาศรีสม เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และเพื่อความสะดวกในการพิจารณาศาลชั้นต้นให้เรียกผู้ร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เรียกนางลำจวนว่า ผู้ร้องที่ 2 และเรียกวัดเขาบันไดอิฐว่า ผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้งนายฤชา ศรีสม และนางสาวลำจวน มั่งคั่ง (ที่ถูกนางลำจวน มั่งคั่ง) ผู้ร้องที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเปลื้อง สีสม หรือศรีสม ผู้ตาย ให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุเปลื้อง ศรีสม ผู้ตาย ซึ่งขณะมรณภาพจำพรรษาอยู่ที่วัดผู้คัดค้าน หลังจากผู้ตายมรณภาพได้มีการเปิดห้องหรือกุฎิผู้ตายพบเงิน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พระเครื่อง และทรัพย์สินอื่น ๆ อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามบันทึกมติของคณะกรรมการเก็บรักษาทรัพย์สินพระเปลื้อง รายการสำรวจทรัพย์สินภายในห้องพระเปลื้องเอกสารหมาย ร.6 และพินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนเองทั้งฉบับเอกสารหมาย ร.7 ระบุยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทผู้ตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นโมฆะหรือไม่ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า พินัยกรรมดังกล่าวมีการเติมข้อความว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” โดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมลงกำกับไว้เป็นการไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของผู้ตายที่เขียนต่อเนื่องกับข้อความอื่นและอยู่ในบรรทัดเดียวกัน แม้จะมีสีหมึกเข้มกว่าข้อความอื่น ก็หาเป็นข้อบ่งชี้เด็ดขาดที่แสดงให้เห็นว่ามีการตกเติมข้อความแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.7 เป็นพินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1675 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า “ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า (น่าจะเป็นข้าวของต่าง ๆของข้าพเจ้า) ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทาญาติ (น่าจะเป็นทายาท) ของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว” นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายตามรายการสำรวจทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.6 ให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพ ลำพังข้อกำหนดดังกล่าวย่อมทำให้พินัยกรรม เอกสารหมาย จ.7เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่แล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า”และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” แม้จะไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็ตามก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความคำว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย เท่านั้นส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมไปหมดแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7วินิจฉัยว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.7 ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share