คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารนี้ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อผู้ตายไว้ครบถ้วนเป็นพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคหนึ่งแล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย” แม้จะไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าไม่มีเพิ่มเติมข้อความที่ว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย” เท่านั้น ส่วนข้อความอื่นในพินัยกรรมยังคงมีผลสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด
เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1623 ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย อันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุ ป. ผู้ตาย ก่อนมรณภาพ ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บรรดาทายาท มีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่ง ตั้ง ฤ. และ ล. ซึ่งไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ล. ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุ ป. เป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสีย ในทรัพย์มรดกของพระภิกษุ ป. ประสงค์จะขอจัดการทรัพย์มรดกของพระภิกษุ ป. ร่วมกับ ฤ. และ ก. ด้วย
วัดเขาบันไดอิฐยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ และยกคำร้องขอของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของ ล. และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ป.
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องและ ล. ตกลงให้ ล. และ ฤ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และเพื่อความสะดวกในการพิจารณาศาลชั้นต้นให้เรียกผู้ร้องว่าผู้ร้องที่ ๑ เรียก ล. ว่าผู้ร้องที่ ๒ และเรียกวัดเขาบันไดอิฐว่าผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ตั้ง ฤ. และ ล. ผู้ร้องที่ ๒ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ป. ผู้ตาย ให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุ ป. ผู้ตาย ซึ่งขณะมรณภาพจำพรรษาอยู่ที่วัดผู้คัดค้าน หลังจากผู้ตายมรณภาพได้มีการเปิดห้องหรือกุฏิผู้ตายพบเงินสด สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พระเครื่องและทรัพย์สินอื่น ๆ อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย และพินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนเองทั้งฉบับ ระบุยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทผู้ตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า พินัยกรรมดังกล่าวมีการเติมข้อความว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” โดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมลงกำกับไว้ เป็นการไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นลายมือของผู้ตายที่เขียนต่อเนื่องกับข้อความอื่นและในบรรทัดเดียวกันแม้จะมีสีหมึกเข้มกว่า ข้อความอื่นก็หาเป็นข้อบ่งชี้เด็ดขาดที่แสดงให้เห็นว่ามีตกเติมข้อความแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ ๑ ระบุว่า “ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า (น่าจะเป็นข้าวของต่าง ๆ ของข้าพเจ้า) ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทาญาติ (น่าจะเป็นทายาท) ของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว” นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตาย มรณภาพ ลำพังข้อกำหนดดังกล่าวย่อมทำให้เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่แล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความ เพิ่มเติมต่อไปว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” แม้จะไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๗ วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความคำว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” เท่านั้น ส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมไปหมดแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๓ ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ผู้ตายอันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ วินิจฉัยว่าพินัยกรรม ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share